การประเมินผลรอบทิศแบบ 360 องศา (360-degree Feedback)

การประเมินผลรอบทิศแบบ 360 องศา (360-degree Feedback)


การประเมินผล (Evaluation) ถือเป็นกระบวนการสำคัญอย่างหนึ่งขององค์กรเลยก็ว่าได้ เพราะผลประเมินนั้นจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบตั้งแต่ใช้ปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น, ตรวจสอบมาตรฐานขององค์กร, ประเมินศักยภาพของพนักงาน, กระตุ้นการทำงานตลอดจนพัฒนาการของบุคลากร, ไปจนถึงประเมินอัตราจ้างและผลโบนัสประจำปีอีกด้วย อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้มีเครื่องมือที่นำมาใช้ประเมินผลมากมายหลายรูปแบบ ตลอดจนวิธีการประเมินผลที่เพิ่มประสิทธิภาพของผลลัพธ์ได้ดีขึ้น หนึ่งในการประเมินผลที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากก็คือ “การประเมินผลรอบด้านแบบ 360 องศา (360-degree Feedback)” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก และเป็นหนึ่งในเครื่องมือการประเมินผลที่ยอดเยี่ยมที่สุดเลยทีเดียว

การประเมินผลรอบทิศแบบ 360 องศา (360-degree Feedback) คืออะไร

การประเมินผลรอบทิศแบบ 360 องศานี้ มีการใช้คำในภาษาอังกฤษสองรูปแบบก็คือ 360-degree Feedback หรือ 360-degree review ซึ่งการประเมินผลในลักษณะนี้ก็คือวิธีการตลอดจนเครื่องมือที่ใช้ในการแสวงหาข้อมูลด้านความสามารถในการทำงาน (Performance Feedback) ตามตำแหน่งและหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายของพนักงานคนนั้นๆ เพื่อนำมาประเมินผลการทำงานเพื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานที่องค์กรวางไว้ ตลอดจนประเมินศักยภาพของพนักงานไปพร้อมกันด้วย

รายละเอียดในการประเมินผลนั้นไม่มีข้อจำกัดใดๆ แต่มีรูปแบบการประเมินผลที่เป็นกรอบชัดเจน นั่นคือจะต้องสอบถามตลอดจนแสวงหาความคิดเห็นจากบุคคลรอบข้างที่เกี่ยวข้องกับการทำงานทั้งหมดแบบครบองค์รวม 360 องศา ตั้งแต่ ผู้บังคับบัญชาที่อยู่สูงขึ้นไป, ผู้ใต้บังคับบัญชาที่อยู่ต่ำกว่า, เพื่อนร่วมงาน, เพื่อนต่างแผนก, พนักงานในระดับที่อยู่ล่างกว่าแต่ไม่อยู่ในสายบังคับบัญชาโดยตรง, ไปจนถึงผู้ที่อยู่นอกองค์กรแต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงาน อย่างเช่น ลูกค้า, คู่ค้า, ไปจนถึงหุ้นส่วนกิจการ เป็นต้น นั่นคือส่วนของบุคคลอื่น

แต่หัวใจสำคัญอีกอย่างของการประเมินผลรอบด้านแบบ 360 องศา (360-degree Feedback) นี้ก็คือการที่ต้องประเมินผลตนเองด้วย ว่ามีความสามารถหรือศักยภาพอย่างไร เพื่อที่จะนำข้อมูลทั้งหมดไปประมวลผลออกมาเป็นผลการประเมินที่รอบด้าน หลากหลายมุมมอง เป็นข้อมูลการประเมินที่มีการชั่งน้ำหนักจากหลายฝ่าย ทำให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือขึ้น

ประโยชน์ของการประเมินผลรอบทิศแบบ 360 องศา (360-degree Feedback)

การประเมินผลรอบทิศแบบ 360 องศา (360-degree Feedback) นั้นมีประโยชน์ในหลายๆ ด้านดังต่อไปนี้

  • รู้ถึงความสามารถและศักยภาพที่แท้จริงของบุคลากร : การประเมินผลรอบทิศแบบ 360 องศา นั้นก็เพื่อต้องการทราบข้อเท็จจริงจากข้อมูลรอบด้านให้มากที่สุดถึงความสามารถตลอดจนศักยภาพที่แท้จริงของคนคนนั้น จากความคิดเห็นของคนอื่นๆ ในหลากหลายมิติ รวมถึงมิติของตัวผู้ประเมินเอง ว่าผลสรุปนั้นเป็นอย่างไรที่ไม่ใช่เกิดจากมุมมองแคบๆ จากไม่กี่แหล่ง
  • กระตุ้นให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ : หนึ่งในวัตถุของการประเมินผลนั้นก็คือการกระตุ้นให้บุคลากรในองค์กรทำงานอย่างกระตือรือร้นและมีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการพัฒนาองค์กร หากไม่มีการประเมินผลใดๆ ก็จะไม่มีการพัฒนาในงานได้ เพราะทำดีหรือทำแย่ต่างก็ไม่มีความหมาย ฉะนั้นการประเมินผลจะทำให้คนมุ่งพัฒนาตนเองเพื่อแสดงศักยภาพที่ดีให้ได้มากที่สุด และเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ผลประเมินที่ดีด้วยนั่นเอง และส่งผลดีต่ออนาคตทั้งในเรื่องของการทำงาน การปรับตำแหน่ง ไปจนกระทั่งอัตราจ้างได้ด้วย
  • สร้างความยุติธรรมในการประเมินผล : การสอบถามข้อมูลจากคนรอบทิศที่ไม่ใช่จากมุมมองเดียวจะทำให้เราได้รับข้อมูลที่หลากหลาย และเกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งในส่วนของผู้ประเมินเอง และในส่วนของผู้ถูกประเมินด้วย บางครั้งผู้ประเมินอาจเข้าข้างตนเอง ซึ่งความเห็นจากมุมอื่นๆ จะทำให้เกิดมุมมองที่หลากหลายขึ้น หรือบางทีเจ้านายอาจมีอคติกับลูกน้อง ประเมินผลให้ไม่ดี แต่ก็ต้องสอบถามคนอื่นๆ ที่มีความเห็นตรงหรือต่างกันด้วย สร้างความยุติธรรมให้กับผู้ถูกประเมินได้ ความเห็นที่หลากหลายนั้นทำให้สามารถเห็นมุมมองเพิ่มเติม และนำมาพิจารณาการประเมินได้ถ้วนถี่ขึ้น ป้องการการอคติ หรือการเข้าข้างกันจนเกินไป
  • สร้างการทำงานร่วมกันและสร้างความสามัคคี : การที่ทุกคนมีส่วนต่อการประเมินผลจะทำให้ทุกคนเกิดความร่วมแรงร่วมใจในการทำงาน มากกว่าที่จะมาเกี่ยงงาน หรือชิงดีชิงเด่นกัน เพราะทุกอย่างมีผลต่อการประเมินแทบทั้งสิ้น และทุกคนก็มีสิทธิ์ประเมินผลซึ่งกันและกันด้วย การร่วมมือกันทำงานก็จะเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีระหว่างกันและสร้างผลการประเมินที่ดีในทุกฝ่ายด้วยเช่นกัน
  • กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในทุกระดับ : แน่นอนว่าทุกคนอยากได้รับผลการประเมินที่ดี และผลการประเมินที่ดีก็ย่อมตอบแทนกลับมาที่ดีกับทุกฝ่ายเช่นกัน หากการทำงานส่งผลให้องค์กรพัฒนาและประสบผลสำเร็จมากเท่าไร ก็จะยิ่งส่งผลดีต่อการประเมินกลับมาด้วย ดังนั้นทุกคนจึงมุ่งมั่นพัฒนาตนเอง ตลอดจนทำงานให้ประสบผลสำเร็จให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มศักยภาพองค์กรให้พัฒนาขึ้นตลอดเวลาอีกด้วย
  • รู้จุดอ่อนตลอดจนปัญหาได้ง่าย : การมองจากมุมมองเดียวนั้นบางครั้งอาจเกิดการปกปิดปัญหาตลอดจนจุดอ่อนเพื่อเลี่ยงการประเมินที่แย่ หรือบางทีคนส่วนใหญ่ก็มองไม่เห็นจุดอ่อนหรือจุดบอดของตัวเอง มองไม่เห็นปัญหาของตัวเอง แต่คนอื่นๆ มักเห็นตรงจุดนี้ การประเมินแบบรอบทิศ 360 องศานั้นจะทำให้เราได้รับทราบปัญหาตลอดจนจุดอ่อนได้ง่ายขึ้น สามารถอุดรอยรั่วได้ทัน ช่วยกันอุดรอยรั่วได้ ทั้งในเรื่องของการทำงานและลักษณะนิสัยส่วนบุคคล เมื่อแก้ปัญหาได้ก็จะทำให้ทุกอย่างราบรื่นนั่นเอง
  • ฝีกทักษะการคิดวิเคราะห์ : การประเมินผลจากรอบด้านนั้นจะช่วยฝึกทักษะการวิเคราะห์ ทั้งการวิเคราะห์ตนเอง และการวิเคราะห์ผู้อื่น ไปจนถึงการวิเคราะห์งานที่ทำว่าเป็นอย่างไร มีปัญหาหรือไม่ ประสบผลสำเร็จหรือเปล่า
ข้อเสีย / ข้อบกพร่อง ของการประเมินผลรอบทิศแบบ 360 องศา
  • การประเมินผลจะขึ้นอยู่กับบรรทัดฐานของแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน ทำให้มาตรฐานไม่เท่ากัน และมีการตีค่า หรือให้คะแนนในมาตรฐานที่ต่างกัน
  • อคติมีผลต่อการประเมินผล หากเกิดอคติต่อกันย่อมส่งผลให้การประเมินผลต่ำกว่าที่ควรจะเป็นได้ ผลการประเมินคลาดเคลื่อนได้
  • เกิดผลประเมินที่คลาดเคลื่อนไปในทางที่ดีจนเกินไป ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เนื่องจากทุกคนอยากได้ผลประเมินที่ดี และมีการตกลงกันในการประเมินผลที่ดีให้แก่กันทุกคน เพื่อที่ทุกคนจะได้รับผลตอบแทนที่ดีด้วยกัน
  • เกิดความขัดแย้งได้ง่าย หากไม่เกิดการยอมรับในการประเมิน และรู้ว่าการประเมินที่ไม่ดีไม่ตรงตามใจคิดมาจากผู้ใด ก็จะสร้างความขัดแย้ง ทะเลาะเบาะแว้งได้เช่นกัน
  • เนื่องจากมีข้อมูลมากมาย หลากหลายด้าน หลากหลายมุมมอง หลากหลายแหล่ง อาจต้องใช้เวลาในการประมวลและประเมินผลที่กินเวลานานพอสมควร

จุดประสงค์ของการประเมินผลรอบทิศแบบ 360 องศา (360-degree Feedback)

การประเมินผลรอบทิศแบบ 360 องศานี้ มีการใช้คำในภาษาอังกฤษสองรูปแบบก็คือ 360-degree Feedback หรือ 360-degree review การประเมินผลนั้นมีหลากหลายรูปแบบและหลากหลายวิธีมาก แต่จุดประสงค์ของการประเมินผลรอบทิศแบบ 360 องศานี้เหมาะสำหรับองค์กรที่มีมิติการทำงานหลากหลายระดับ และองค์กรที่มีขนาดใหญ่ เพราะความคิดเห็นที่หลากหลายด้าน จากหลากหลายระดับ จะทำให้ความคิดเห็นมีความละเอียดยิ่งขึ้น มีการมองต่างมุม มีข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ที่รอบด้าน เพื่อนำมาประมวลผลให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด

จุดประสงค์อีกอย่างของการทำแบบประเมินผลรอบทิศนี้ก็คือการต้องการกระตุ้นให้ทุกคนในองค์กรตื่นตัว และกระตือรือร้นในการทำงาน ตลอดจนสร้างทักษะในการทำงานร่วมกันด้วย เพราะการประเมินจะทำกับทุกคนโดยมีทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของตนให้ความร่วมมือในการประเมิน ดังนั้นทุกคนต่างก็มีผลต่อการประเมินของทุกคนเช่นกัน และนั่นก็จะเกิดผลดีในการทำงานองค์รวมให้กับองค์กรได้ในที่สุดด้วย

ควรประเมินผลด้านใดบ้างจากการประเมินผลรอบทิศแบบ 360 องศา (360-degree Feedback)

การประเมินผลรอบทิศแบบ 360 องศา (360-degree Feedback) นั้นนอกจากจะประเมินผลจากบุคคลหลากหลายมิติที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำงานของผู้ประเมินแล้ว สิ่งที่ควรทำการประเมินจะแบ่งเป็น 2 ด้านใหญ่ๆ ดังนี้

การประเมินผลด้านการทำงาน (Performance Evaluation)

การประเมินผลด้านความสามารถในการทำงานที่เกิดจากการสอบถามข้อมูลรอบด้านจะทำให้เราเห็นศักยภาพการทำงานที่แท้จริงได้เช่นกัน เพราะบางครั้งผู้ประเมินอาจประเมินตนเองไว้ในระดับสูง แต่หัวหน้างาน ตลอดจนผู้ร่วมงานอาจเห็นตรงกันข้าม หรือบางทีผู้ประเมินอาจถ่อมตน กดการประเมินของตัวเองไว้ต่ำ แต่คนอื่นกลับมองว่ามีศักยภาพ นั่นทำให้เราสามารถประเมินผลการทำงานได้ในหลากหลายมุมมอง และได้รับข้อมูลหลากหลายมิติด้วย

การประเมินผลด้านพฤติกรรม (Behavior Evaluation)

การประเมินผลด้านพฤติกรรมนั้นเป็นการประเมินผลที่วัดค่าได้ยาก และกำหนดมาตรฐานตายตัวไม่ได้ การประเมินผลด้านพฤติกรรมนี้มักอยู่บนพื้นฐานการรับรู้และตีความของแต่ละบุคคล แต่กรอบโดยรวมมักจะมีบรรทัดฐานเดียวกัน การประเมินผลด้านพฤติกรรมนี้เปรียบเสมือนการให้คะแนนจิตพิสัยที่ไม่ได้ใช้เกณฑ์ตามหลักวิชากรหรือความสามารถเป็นพื้นฐาน แต่ใช้เกณฑ์ด้านลักษณะนิสัยและการประพฤติปฎิบัติตน ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม หรือการทำงานกับคนหมู่มากด้วยเช่นกัน ถึงแม้จะไม่ใช่ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการทำงานโดยตรง แต่ก็เป็นปัจจัยทางอ้อมที่ส่งผลหลายอย่าง ทั้งต่อการทำงาน และต่อผู้ร่วมงานในทุกระดับ หากมีพฤติกรรมที่ดีก็ทำให้ใครอยากร่วมงานด้วย การทำงานราบรื่น แต่หากพฤติกรรมแย่ก็อาจทำให้ไม่มีใครอยากร่วมงานด้วย ทั้งที่ความสามารถผ่าน แต่พฤติกรรมไม่ผ่าน ก็ทำให้กระทบกับงานได้อย่างไม่คาดคิดเช่นกัน และการประเมินผลด้านพฤติกรรมนี้เหมาะที่สุดสำหรับการประเมินแบบรอบทิศ 360 องศา อย่างยิ่ง เพราะจะเป็นการได้รับข้อมูลในหลากหลายมิติ ได้รับความคิดเห็นจากหลายมุมมอง ไม่ตัดสินใจใครจากมุมมองเดียว ยุติธรรมสำหรับทุกฝ่ายด้วย

การประเมินผลด้านทักษะในการสื่อสาร (Communication Evaluation)

การสื่อสารถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการทำงานในทุกระดับทีเดียว การสื่อสารตั้งมีตั้งแต่การสื่อสารในการทำงาน และการสื่อสารระหว่างบุคคลอื่น ตลอดจนการสื่อสารเพื่อถ่ายทอดสารระหว่างกัน การประเมินทักษะในการสื่อสารนี้ควรประเมินทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน ซึ่งเราสามารถประเมินจากคนรอบทิศแบบ 360 องศา ได้เป็นอย่างดีที่สุด ซึ่งเราสามารถสำรวจผลสัมฤทธิ์ของการสื่อสารแต่ละคนได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันผู้ถูกประเมินก็จะถูกประเมินเรื่องการสื่อสารไปในตัว และเห็นผลได้ชัดเจนว่ามีทักษะในการสื่อสารที่ดีหรือไม่เพียงไร การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพนั้นอาจทำให้การทำงานมีประสิทธิผลมากขึ้น ในขณะเดียวกันการสื่อสารที่มีปัญหา ก็สร้างปัญหาในการทำงานได้เช่นกัน และปัญหาหลายๆ อย่างในการทำงานทุกวันนี้ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาของการสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ สื่อสารผิดพลาด และสร้างสารที่มีประสิทธิภาพไม่เป็นนั่นเอง ซึ่งอาจทำให้องค์กรเกิดปัญหาได้

การประเมินผลด้านทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น (Coordination Evaluation / Teamwork Evaluation)

องค์กรไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยคนคนเดียว และบางครั้งก็ไม่ได้ขับเคลื่อนจากคนในองค์กรเพียงอย่างเดียวด้วย ฉะนั้นการทำงานร่วมกับผู้อื่นตลอดจนสามารถทำงานในระบบทีมได้อย่างดีเยี่ยมจะยิ่งทำให้การทำงานเป็นระบบระเบียบ ราบรื่น และร่วมแรงร่วมใจกัน การประเมินผลรอบทิศแบบ 360 องศา นี้จะทำให้เห็นทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ตลอดจนการทำงานในระบบทีมได้อย่างชัดเจนมาก รวมไปถึงทักษะในการประสานงานทั้งกับคนในองค์กรและกับคนนอกองค์กรที่มีผลต่อการทำงานได้ดีอีกด้วย

บทสรุป

การประเมินผลรอบทิศแบบ 360 องศา (360-degree Feedback) เป็นกระบวนการในการได้รับข้อมูลตลอดจนวิเคราะห์ผลการประเมินจากหลากหลายด้าน หลากหลายบุคคล หลากหลายความคิดเห็น ซึ่งเป็นข้อมูลที่ดี รอบด้าน มีหลากหลายมุมมอง มีหลากหลายน้ำหนัก อีกส่วนก็คือเปิดโอกาสให้ผู้ถูกประเมินได้มีโอกาสประเมินตนเองด้วย ซึ่งเมื่อนำมาประมวลผลจะทำให้ได้ผลการประเมินที่มีคุณภาพ แต่ถึงอย่างไรการประเมินผลแบบนี้ก็ต้องดูลักษณะงานประกอบกันด้วยว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงไร ควรชั่งน้ำหนักอย่างไร ให้ความสำคัญระดับไหน หรือควรมีการประเมินผลรูปแบบอื่นร่วมด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความยุติธรรมให้กับสำหรับทุกฝ่าย และให้ได้ผลประเมินที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงให้มากที่สุด ซึ่งการประเมินผลที่มีประสิทธิภาพจะทำให้ได้ผลการประเมินที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งประโยชน์ต่อผู้ถูกประเมินเอง รวมไปถึงประโยชน์ต่อองค์กรอีกด้วย ซึ่งหากนำผลประเมินไปใช้ให้เกิดประโยชน์ก็จะเกิดพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นกับทุกฝ่ายแน่นอน

สามารถอ่านบทความน่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี่ คลิ๊ก!!


https://th.hrnote.asia

 990
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

Background Checks คือการตรวจสอบประวัติอย่างละเอียด ครอบคลุมทั้งด้านข้อมูลส่วนตัว, ประวัติอาชญากรรม, ภาวะทางการเงิน, การศึกษา ตลอดจนบริบทอื่น ๆ ที่ส่งผลกับตำแหน่งที่สมัครเข้ามา
สวัสดิการที่องค์กรมอบให้แก่พนักงาน กับ สวัสดิการที่พนักงานต้องการ นั้น บางเรื่องก็เป็นสิ่งที่ตรงกัน ส่วนบางเรื่องก็เป็นสิ่งที่ต่างความเห็นกัน ในเรื่องนี้จากทาง Jobthai (jobthai.com) เคยทำบทความนำเสนอผลการสำรวจความคิดเห็นจากคนทำงานทั่วประเทศในประเด็นที่ว่า “สวัสดิการที่คนทำงานต้องการจากองค์กร” ซึ่งเป็นการทำผลสำรวจจากคนทำงานที่เป็นพนักงานทั่วไปจำนวน 7,420 คน ทั่วประเทศ โดยมีผลการสำรวจออกมาดังนี้
เคยได้ยินคำว่า Flexible Time กันอยู่บ่อย ๆ ว่าแต่เอ๊ะ มันคืออะไร ??
AQ หรือ Adversity Quotient คือความฉลาดในการรับมือกับปัญหา ทั้งสภาพกาย และจิตใจ ถูกบัญญัติขึ้นโดยพอล สโตลทซ์ (Paul Stoltz) เมื่อปี 1997 ว่า เป็นวิธีการประเมินความสามารถของแต่ละคนในการรับมือ และตอบสนองต่อความทุกข์ยาก โดยสถาบันชั้นนำอย่างฮาร์วาร์ด (Harvard), สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT) และคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon) ต่างก็ใช้ AQ เป็น ‘Golden Standard’ เพื่อประเมินว่า คนนั้นๆ จัดการกับความท้าทายอย่างไรด้วยกันทั้งสิ้น และยังค้นพบอีกด้วยว่า AQ มีความสัมพันธ์โดยตรงกับ ‘การเป็นผู้นำที่ดี’
การวางแผนอัตรากำลังคน (Manpower Planning) หรือ การวางแผนกำลังคน คือ กระบวนการในการคาดการณ์ หรือการวิเคราะห์ จำนวนความต้องการกำลังคนขององค์กร ประเภทพนักงานที่มีความสามารถเหมาะสมที่จะมาปฏิบัติงานให้พอเพียงกับการเปลี่ยนแปลง การขยายตัว หรือลดขนาดองค์กร เพื่อความเหมาะสมของขนาดองค์กร ตามความต้องการของธุรกิจให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่องค์กรได้กำหนดไว้
ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า "Face recognition" หรือ ระบบจดจำใบหน้า อย่างกว้างขวาง รวมไปถึงการนำไปใช้กับซอฟต์แวร์ในระบบ HR ในการสแกนใบหน้าเพื่อลงเวลาเข้า-ออกงานที่ออฟฟิศ เพื่อบันทึกประวัติการทำงานของพนักงาน ตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน คำนวณเงินเดือน รวมไปถึงการประเมินต่างๆ
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์