10 ทักษะที่นักธุรกิจเงินล้านต้องมีและต้องเชี่ยวชาญ

10 ทักษะที่นักธุรกิจเงินล้านต้องมีและต้องเชี่ยวชาญ

10 ทักษะที่นักธุรกิจเงินล้านต้องมีและต้องเชี่ยวชาญ



Skills Set หรือทักษะที่จำเป็นต้องมีในการเป็นนักธุรกิจเงินล้านและประสบความสำเร็จอย่างสูงในแวดวงอุตสาหกรรมนั้น จำเป็นต้องมีทักษะเฉพาะทางที่แตกต่างจากการทำงานประจำทั่วไป และนี่คือทักษะสำคัญที่คนเป็นนักธุรกิจเงินล้านต้องมีและต้องเชี่ยวชาญ

ทักษะที่ 1 – ความสามารถในการโน้มน้าวคน (Persuasion)
การทำธุรกิจนั้น เป็นงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้อื่นอยู่เสมอ ตั้งแต่ในระดับครอบครัว ซึ่งหากตอนนี้คุณพึ่งเรียนจบหรือกำลังทำงานประจำอยู่ การที่คุณจะก้าวออกมาทำธุรกิจส่วนตัวนั้น สิ่งแรกก็คือ คุณจะต้องพูดคุยกับคนในครอบครัวเสียก่อนว่าเพราะเหตุใด คุณถึงตัดสินใจที่จะทิ้งการงานที่มั่นคงเพื่อไปเสี่ยงทำธุรกิจ คุณต้องโน้มน้าวคุณพ่อ คุณแม่ แฟน หรือแม้กระทั่งลูก ๆ ว่าเพราะเหตุใด เราจึงเลือกเส้นทางการทำธุรกิจนี้ให้ได้ เพราะมันคงจะไม่มีความสุขอย่างมาก หากแม้กระทั่งคนในครอบครัวคุณไม่เห็นด้วย ไม่เข้าใจและไม่ซับพอร์ท

ต่อมาเมื่อคุณโน้มน้าวครอบครัวได้สำเร็จแล้ว สิ่งต่อมาก็คือ การหาทีมงานร่วมทีม หาเงินทุน หาพนักงาน ซึ่งคุณก็จะต้องโน้มน้าวให้เพื่อนที่สนใจเข้ามาร่วมก่อตั้ง ร่วมลุยธุรกิจด้วยกัน และหากต้องการเงินทุนเริ่มต้น คุณก็ต้องสามารถโน้มน้าวนายทุนให้พวกเขามาร่วมลงเงินก้อนแรกเพื่อรันธุรกิจให้ได้ และเมื่อสามารถก่อตั้งบริษัทได้แล้ว สิ่งต่อมาก็คือ ต้องสามารถโน้มน้าวพนักงานให้มาร่วมทำงานกับคุณว่า เพราะเหตุใดพวกเขาต้องมาทำงานให้กับเรา

จนไปถึง การโน้มน้าวให้ลูกค้าเข้ามาอุดหนุนสินค้าของคุณ และหากคุณขยายธุรกิจก็ต้องหาพาร์ทเนอร์หรือคู่ค้าทางธุรกิจมาเสริม นั่นคุณก็ต้องโน้มน้าวพวกเขาให้มาร่วมธุรกิจกับคุณให้ได้ และหากต้องการที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งบริษัทของคุณก็จะกลายเป็นบริษัทมหาชน ที่สามารถโน้มน้าวให้ประชาชนและบุคคลทั่วไป เข้ามาร่วมลงทุนให้ได้นั่นเอง

ทักษะที่ 2 – ความสามารถในการอ่านคน (Reading People)
การทำธุรกิจเป็นเรื่องของคนซะเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นทั้งคนในองค์กรหรือคนนอกองค์กร ซึ่งขั้นแรก เอาที่อยู่ในองค์กรก่อน ที่คุณจะต้องอ่านให้ออกว่า คนที่จะเข้ามาร่วมลุยธุรกิจกับคุณนั้นเป็นคนแบบไหน ซึ่งการมองนั้นคุณสามารถมองได้ 2 รูปแบบหลัก ๆ ก็คือ

การมองให้ออกในแง่ลบ – แน่นอนว่าในสังคมนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดีปะปนกันไป คุณจึงจำเป็นต้องดูให้ออกว่า คนไหนที่จะเข้ามาร่วมกับคุณเพียงเพื่อที่จะกอบโกยผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว หรือแย่ยิ่งกว่านั้นก็คือ คนไหนที่คิดจะเข้ามาโกงคุณ แอบแทงข้างหลังคุณในเวลาที่คุณเผลอ หรือการอ่านใจคนที่เข้ามาสมัครงานกับคุณ โดยที่คน ๆ นั้นอาจจะไม่ได้ตั้งใจทำงานแค่รอกินเงินเดือนชิล ๆ ทำงานเรื่อยเปื่อยไปวัน ๆ ซึ่งมันทำให้บริษัทคุณที่พึ่งเริ่มก่อตั้งนั้น อาจจะสะดุดได้ เพราะในช่วงแรกต้องทำงานกันอย่างหนัก เพื่อให้ธุรกิจอยู่ตัวก่อน

การมองให้ออกในแง่บวก – และเมื่อคุณพอมองออกแล้วว่าคนไหนเป็นคนดี ต่อมาคุณก็ต้องมองให้ออกมา คนดีที่คุณจะรับเข้ามาในองค์กรนั้น พวกเขาเก่งในเรื่องอะไร เพราะหน้าที่ของคุณในฐานะที่เป็นเจ้าของธุรกิจนั้น มีหน้าที่จัดหาคนให้เหมาะสมกับงาน เพราะหากสามารถจัดหาคนที่เหมาะสมกับงานได้แล้วนั้น มันจะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก และในกรณีคนนอกองค์กรอย่างลูกค้าเองนั้น คุณก็จำเป็นที่จะต้องอ่านใจลูกค้าให้ออกว่า พวกเขาต้องการอะไร ต้องการสินค้าหรือบริการประเภทไหนที่ตอบโจทย์และสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้ เพราะหากสินค้ามันสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้ดีจริง ๆ พวกเขาก็พร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อแลกกับสินค้าหรือบริการของธุรกิจคุณ

ทักษะที่ 3 – ความสามารถในการแบ่งกันรวย (Sharing Wealth)
หลายคนพอได้ยินประโยคว่าแบ่งกันรวย อาจมีทัศคติในทางลบทันทีว่า เป็นพวกทำธุรกิจเครือข่ายหรือเปล่า ซึ่งอันที่จริงแล้ว ในทุก ๆ ธุรกิจก็มีเช่นกัน ยกตัวอย่างเรื่องราวจากที่แอดมินได้พูดคุยเกี่ยวกับเถ้าแก่อะไหล่ยนต์เจ้าหนึ่ง ที่เมื่อสิบกว่าปีก่อนตอนที่เขายังไม่ร่ำรวย แต่เขามองเห็นโอกาสว่า ในอนาคตจะมีรถยนต์เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และแน่นอนว่า อัตราการซ่อมบำรุงรถยนต์นั้น ก็จะมีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยในช่วงแรกที่เขายังไม่ค่อยมีเงินทุนนั้น เขาก็เริ่มต้นเป็นตัวแทนเล็ก ๆ ของแบตเตอร์รี่รถยนต์เจ้าหนึ่ง ซึ่งเขาได้ตระเวนขายตามอู่ซ่อมรถต่าง ๆ จากภายในจังหวัดตนเอง ก็เดินสายทั้งหมด

จนมีแนวคิดว่าจะขยายไปสู่จังหวัดข้างเคียง จึงติดต่อเพื่อนฝูงที่สนใจและต้องการหารายได้เพิ่มเติม ก็ให้วิ่งรถไปขายตามอู่ซ่อมรถต่างจังหวัด จนกระทั่งมีออเดอร์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และเถ้าแก่ก็สามารถยกระดับตนเองกลายเป็นตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ของภาคอีสานได้ทั้งแถบ และเพื่อนฝูงที่สามารถขยายตลาดในจังหวัดข้างเคียงได้ เถ้าแก่ก็สนับสนุนเงินทุน โดยให้เครดิตให้การเอาของไปก่อนแล้วค่อยมาจ่ายทีหลัง จนเพื่อนฝูงก็สามารถเปิดหน้าร้าน มีบริษัทเป็นของตนเองได้ โดยที่รับสินค้าจากเถ้าแก่อีกทีนึง หรือแม้กระทั่งลูกน้องของเถ้าแก่เอง ที่อยู่กันมานานตั้งแต่เป็นช่างต๊อกต๋อยจนเลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าช่างและผู้จัดการร้าน และวันหนึ่งลูกน้องคนนี้ก็อยากมีร้านเป็นของตนเอง เถ้าแก่จึงสนับสนุนเงินทุนในการเปิดสาขาร้านในต่างจังหวัดในแถบภาคอีสานให้ และรับของจากเถ้าแก่อีกทอดนึง

แม้ว่าเถ้าแก่จะได้กำไรลดลง แต่การที่มีร้านในเครือสั่งสินค้าเยอะขึ้น ก็สามารถทดแทนกันได้ แถมยังไม่ต้องขายเองให้เหนื่อยเพิ่มอีกด้วย เพราะทั้งเพื่อนฝูงและลูกน้องเก่า ทำหน้าที่แทนบางส่วนแล้ว ทำให้เกิดเถ้าแก่อีกมากมายในหลายจังหวัด ซึ่งจุดเริ่มต้นก็มาจากเถ้าแก่เพียงคนเดียว

ทักษะที่ 4 – ความสามารถในการใช้พลังทวี (Leverage)
ในช่วงที่ธุรกิจของคุณดำเนินกิจการมาได้ระดับหนึ่งที่สามารถอยู่ตัวได้แล้ว และคุณกำลังมองหาลู่ทางที่จะขยับขยายธุรกิจให้เติบโตมากยิ่งขึ้น ซึ่งการหาวิธีใช้พลังทวีหรือ Leverage ที่แปลตรงตัวว่าการงัด ที่เกิดจากการหาเครื่องทุ่นแรงที่ใช้แรงน้อยลงแต่สามารถทำเรื่องใหญ่ ๆ ได้ โดยการใช้พลังทวี สามารถทำได้ในทุก ๆ ส่วนของธุรกิจ เช่น

การใช้พลังทวีจากคน ที่จากเดิมเราเองนั้น ทำเองแทบทุกสิ่งอย่าง ตั้งแต่ภารโรงยันผู้บริหาร แต่เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น มันจะมีงานเยอะขึ้น ดังนั้น การใช้คนเข้ามาแทนที่ในงานที่คนอื่นสามารถทำแทนคุณได้ เพื่อที่คุณจะได้มีเวลาไปโฟกัสในเรื่องที่สำคัญและมีแต่คุณเท่านั้นที่สามารถทำได้และทำได้ดีด้วย
กรณีใช้พลังทวีในเรื่องของการตลาด คุณก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยใช้ประโยชน์จากโลกออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ เช่น การทำ Content ลงโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Youtube ที่มีผู้คนนับล้านใช้งานอยู่ และทันทีที่คุณทำการตลาดผ่านช่องทางเหล่านี้ มันก็มีโอกาสเข้าถึงผู้คนได้ในจำนวนมาก ในเวลาอันรวดเร็ว แถมยังมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำมาก หรือไม่มีเลย เป็นต้น

ทักษะที่ 5 – การสรรหาผู้คน (Recruiting)
จากการที่คุณมีทักษะการโน้มน้าวผู้คนและการอ่านคนมาแล้ว ทีนี้ก็เป็นเรื่องที่คุณจะต้องสามารถสรรหาผู้คนที่เหมาะกับแต่ละงานได้ด้วย ซึ่งหน้าที่ของผู้นำองค์กรก็คือ “Put The Right Man On The Right Job” ความหมายก็คือ การวางคนให้เหมาะสมกับงาน และการที่คุณสามารถดึงคนดี คนเก่งที่มีความสามารถเข้ามาร่วมงานกับคุณได้ ผลลัพธ์ที่ได้นั้นอาจทำให้ธุรกิจทวีคุณได้หลายเหล่า ยกตัวอย่างเช่น หากมีนักขายเก่ง ๆ เข้ามาที่บริษัท แล้วเพียงคนนี้คนเดียวสามารถทำยอดขายได้เท่ากับพนักงานงานคนเก่า ๆ รวมกันสิบคนก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน

ทักษะที่ 6 – การบริหารจัดการกับพลังงานในตัว (Energy Management)
ร่างกายเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คุณสามารถทำงานต่อไป ใช้ชีวิตต่อไปได้ คุณคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า ต่อให้คุณร่ำรวยมากแค่ไหนก็ตาม คุณก็ไม่สามารถใช้เงินซื้อสุขภาพที่ดีให้กับคุณได้ ดังนั้น การทำให้ร่างกายของตนเองแข็งแรงอยู่เสมอเป็นเรื่องที่สำคัญมาก คุณต้องกินของที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย, คุณต้องออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรง จนกระทั่งถึงเวลานอน คุณก็ต้องนอนให้เพียงพอและตื่นให้เป็นเวลา เพื่อที่ว่าในเช้าวันใหม่คุณจะได้ลุยงานและใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่

ทักษะที่ 7 – ความสามารถในการแก้ไขปัญหา (How to Process Issues)
เส้นทางการทำธุรกิจนั้นไม่ได้ราบรื่นและโรยไปด้วยกลีบกุหลาบ แต่มันจะมีอุปสรรคขวากหนามอย่างมากมายที่ผู้ประกอบการจะต้องฝ่าฟันมันไปให้ได้ ซึ่งการทำธุรกิจมันก็เหมือนกับการเล่นเกมสักเกมหนึ่งที่หากสามารถแก้ไขปัญหาได้ก็จะสามารถผ่านด่านไปในเลเวลที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งวิธีที่ดีกว่าการรอให้ปัญหาเกิดแล้วค่อยแก้ก็คือ การเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น เช่น

เงินสดไม่พอใช้จ่ายภายในบริษัท คุณก็ต้องหาวิธีเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย
พนักงานสร้างปัญหาภายในองค์กร คุณก็ต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีและมีฝ่าย HR คอยดูแลพนักงาน
แคมเปญการตลาดล้มเหลว คุณก็ต้องหาช่องทางการตลาดใหม่ ๆ และสร้างแคมเปญใหม่ ๆ ที่ปังกว่าเดิม
พนักงานหรือผู้บริหารโกงกินบริษัท คุณก็ต้องจัดการเรื่องการเงิน ฝ่ายบัญชีให้ดี อุดรอยรั่วต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดโอกาสการโกงให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป็นต้น

ทักษะที่ 8 – การบริหารจัดการเวลา (Time Manaement)
เริ่มแรกสุดในธุรกิจ สิ่งที่ต้องการมากที่สุดอาจเป็นเรื่องของเงินสดหมุนเวียน ที่ต้องพอใช้จ่ายภายในบริษัทเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องพึงระวังด้วยก็คือ เวลาก็มีอยู่อย่างจำกัดเช่นกัน เพราะมันมีแต่จะลดลงไม่มีเพิ่ม ซึ่งในกรณีที่ธุรกิจพึ่งเริ่มต้นใหม่ การมีเงินทุนอยู่อย่างจำกัด นั่นก็หมายถึงคุณมีเวลาอยู่อย่างจำกัดด้วยเช่นกัน เช่น หากเงินก้อนแรกนี้ สามารถรันธุรกิจไปได้ 6 เดือน หากยังไม่มีรายได้เข้ามา ดังนั้น ซึ่งที่คุณจะต้องแข่งขันกับเวลาก็คือ ภายใน 6 เดือนนี้จะต้องสร้างรายได้ให้พอเพียงเข้ามาในบริษัทให้ได้ภายใน 6 เดือนนั่นเอง

และเมื่อธุรกิจคุณเติบโตขึ้น สิ่งที่มีค่ามากกว่าเงินทองก็คือ “เวลา” เพราะยิ่งธุรกิจมีขนาดใหญ่ขึ้น มันจะมีงานที่จำเป็นต้องทำเยอะขึ้น ซึ่งมันเกินมือคุณคนเดียวอย่างแน่นอน ดังนั้นคุณสามารถใช้เงิน เพื่อแลกเวลากับของผู้อื่น เข้ามาทำงานในส่วนที่พวกเขาทำงานคุณได้ แถมงานบางอย่าง เผลอ ๆ ทำได้ดีกว่าคุณเสียอีก

และนอกจากจะจัดสรรเวลาแล้ว ต้องปกป้องเวลาของคุณด้วย เพราะในปัจจุบันนี้มีตัวที่สามารถดึงเวลาจากคุณได้อย่างมากมาย จนคุณอาจจะไม่ได้ทำงานทำการเลยก็ว่าได้ เช่น ท่องเที่ยว, เกม, เช็คอีเมล, เลื่อนฟีด Facebook, ดู Youtube ฯลฯ ซึ่งกว่าจะรู้ตัวอีกทีก็หมดไปหลายชั่วโมงแล้ว

ทักษะที่ 9 – การบริหารจัดการกับเงิน (How to Manage Money)
หลายคนคิดว่าการบริหารเงินเป็นเรื่องที่เฉพาะคนรวยเขาทำกัน แต่หารู้ไม่ว่ากว่าที่คนรวยเหล่านั้นจะรวย พวกเขาบริหารการเงินเป็นอยู่ก่อนแล้ว โดยคอนเซ็ปต์ง่าย ๆ ว่า หากตอนที่คุณยังมีเงินไม่มาก คุณยังไม่สามารถบริหารเงินได้เลย แล้วตอนที่คุณมีเงินมากขึ้น คุณจะบริหารเงินได้ยังไงกันล่ะ เพราะฉะนั้น ความรู้ทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญมาก (แต่ในโรงเรียนกลับไม่มีสอนและบรรจุเป็นหลักสูตรซะงั้น) เพราะหากคุณยังใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ เรื่องของเงินจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับคุณตั้งแต่เกิดยันจากโลกนี้ไปแล้วด้วยซ้ำ

ยกตัวอย่างจาก Patrick Bet-David ที่ปรึกษานักธุรกิจร้อยล้าน ที่เป็นที่แหล่งที่มาของเนื้อหานี้ เขายกตัวอย่างว่า เมื่อสมัยตอนที่เขาเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ ๆ เขาเก็บเงินได้ประมาณ 1 ล้านบาท โดยบอกกับภรรยาชัดเจนว่า เขาจะยังไม่ซื้อบ้านภายใน 5 ปีนี้ โดยที่นำเงินเก็บนี้ไปเป็นเงินดาวน์บ้าน เพราะภายใน 5 ปีนี้ เขาจะนำเงินเก็บไปลงทุนทำธุรกิจแล้วทำให้ธุรกิจเติบโตเป็น 5 ล้าน แล้วค่อยนำเงิน 1 ล้านไปดาวน์บ้านหลังแรก และเหลืออีก 4 ล้าน ก็เอาไปลงทุนต่อ เพื่อให้ทวีคูณมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น หากเขานำเงิน 1 ล้านก้อนแรกไปดาวน์บ้านทั้งหมด ก็คงไม่มีธุรกิจที่เติบโตอย่างทุกวันนี้ ที่สามารถซื้อบ้านหลังที่ 2 ที่ 3 ก็ได้ทั้งนั้น

ทักษะที่ 10 – ความสามารถในการเรียนรู้ (Learning)
หลายคนเข้าใจผิดว่า นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จร่ำรวยได้นั้น เป็นเพราะพวกเขาเก่งมาตั้งแต่เกิด มีพรสวรรค์ติดตัวมาอยู่แล้ว หรือไม่ก็เป็นพวกที่เกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวยอยู่แล้ว ซึ่งหารู้ไม่ว่า เหล่าบรรดามหาเศรษฐีที่ร่ำรวย ณ ปัจจุบันในโลกนี้กว่าร้อยละ 80 เป็นคนที่สร้างฐานะขึ้นมาได้ด้วยตนเองแทบทั้งสิ้น ส่วนพวกที่ร่ำรวยจากมรดกตกทอดทอดนั้นมีเพียงไม่ถึงร้อยละ 20 เท่านั้นเอง

นั่นแสดงว่า หากคุณเป็นเพียงคนธรรมดาทั่ว ๆ ไป แต่ไม่หยุดการเรียนรู้ คุณก็สามารถเป็นเศรษฐีได้เช่นกัน เพราะนักธุรกิจที่ร่ำรวยและปะสบความสำเร็จนั้น พวกเขาเป็นพวกที่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา แม้ว่าบางทีในโรงเรียนหรือมหา’ลัยไม่มีสอน พวกเขาก็จะพยายามเสาะหาความรู้นั้นจนได้ อาจได้มาจากการสอบถามผู้รู้โดยตรง, การลงมือทำด้วยตนเองหรือการเสาะหาความรู้ในตำราหรือในอินเตอร์เน็ต ฯลฯ

แหล่งที่มา : www.blueoclock.com/10-skills-that-millionaires-master/


ProsoftHRMI
โปรแกรมบริหารทรัพยากรมนุษย์
โปรแกรมเงินเดือน
 5155
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ก่อนที่จะนำรายได้ต่างๆ มาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก่อนอื่นต้องดูก่อนว่ารายได้เป็นรายได้ประเภทไหน สามารถหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีได้เท่าไหร่ มีค่าลดหย่อนอะไรบ้าง
การอบรมพนักงาน เป็นกิจกรรมที่สำคัญในการพัฒนาและปรับปรุงทักษะและความรู้ของพนักงานในองค์กร ให้มีศักยภาพมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือ HR จึงควรให้ความสำคัญในการวางแผนและดำเนินการอบรมกับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับงานของพนักงานอย่างเป็นระบบ โดยการอบรมนี้อาจจะเป็นการฝึกฝนทักษะทั้งในทางเทคนิค การพัฒนาทักษะการสื่อสาร การบริหารเวลา หรือแม้กระทั่งการพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำและการทำงานเป็นทีม เพื่อปรับตัว เรียนรู้ระบบการทำงานขององค์กร และนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาองค์กรให้ประสบความสำเร็จ ให้สำเร็จลุล่วงกับเป้าหมายที่องค์กรตั้งไว้
SMART คือหลักในการตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนและมีแนวทางปฎิบัติที่เป็นรูปธรรม ทำให้เห็นทิศทางในการปฎิบัติที่เข้าใจได้ง่าย และนำไปปฎิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคำว่า SMART นั้นเกิดมาจากแนวคิดดังนี้ ตลอดจนมีวิธีการปฎิบัติเพื่อการตั้งเป้าหมายที่มีประสิทธิภาพ
ไหน ๆ แล้วได้ยินคำว่า KPI กันอยู่บ่อยครั้ง ในฐานะคนทำงานคงหลีกหนีเรื่องเหล่านี้ไม่พ้นอย่างแน่นอน เราลองมาดูไปพร้อม ๆ กันว่า ดัชนีชี้วัดความสำเร็จหรือ KPI ที่เราคุ้นเคยกันมานานนั้น จริง ๆ แล้วคืออะไรกันแน่ เป็นสิ่งที่น่ากลัวหรือต้องกังวลมากน้อยแค่ไหน ในเมื่อหลบไม่พ้นก็หาทางเผชิญหน้ากันแบบรู้จักฉันรู้จักเธอกันไปเลย
ก่อนที่เราจะลงลึกถึงความแตกต่างของสลิปเงินเดือนระหว่างพนักงานสัญญาจ้าง ฟรีแลนซ์ และพนักงานประจำ มาทำความเข้าใจความหมายของคำศัพท์เหล่านี้ก่อน
Agile - Way of Work เป็นการทำงานในทีมที่ประกอบไปด้วยบุคลากรจากหลายสายงาน โดยเน้นการสื่อสารระหว่างบุคคลเพื่อสร้างความเข้าใจกันให้มากยิ่งขึ้นและเปลี่ยนวิธีการทำงาน จากการกำหนดเป้าหมายระยะยาวแบบมุ่งไปครั้งเดียว เป็นแบบระยะสั้นๆ เพื่อให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจที่เกิดขึ้นตลอดเวลา
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์