ทำความรู้จักกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund : PVD)

ทำความรู้จักกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund : PVD)


กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ กองทุนที่ลูกจ้างและนายจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นโดยความสมัครใจ ประกอบด้วยเงินที่ลูกจ้างจ่ายเงินสะสมและนายจ้างจ่ายเงินสมทบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้าง เมื่อยามลูกจ้างเกษียณหรือออกจากงาน ดังนั้น การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงจัดได้ว่าเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งที่นายจ้าง ได้แก่ บริษัทห้างร้านและองค์กรต่าง ๆ ให้แก่ลูกจ้าง เพื่อเป็นแรงจูงใจแก่ลูกจ้างให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และให้ทำงานกับนายจ้างนานยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังถือเป็นการออมที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่ง เพื่อประโยชน์ในยามชราภาพของลูกจ้าง

1.ลักษณะกองทุน เป็นกองทุนการออมเพื่อการชราภาพภาคสมัครใจ แบบกำหนดการจ่ายอัตราเงินสะสมและอัตราสมทบแน่นอน (Defind Contribution) บริหารโดยผู้จัดการกองทุนภาคเอกชน
2.การจัดตั้งกองทุน : ภายใต้พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 และ พรบ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542
3.นายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
4.อัตราเงินสะสม / สมทบ : 2*15% ของค่าจ้าง
5.ความครอบคลุม (Coverage)
ลูกจ้างภาคเอกชน : ลูกจ้างและนายจ้างร่วมกันจัดตั้งกองทุนด้วยความสมัครใจ
พนักงานรัฐวิสาหกิจ : จัดตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 29 กรกฎาคม 2539
ลูกจ้างประจำส่วนราชการ : จัดตั้งตามมติคณะรัฐมนตรีภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 พ.ศ. 2532 ตามความใน พรบ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 2530
6.โครงสร้างการบริหารจัดการ
 -  คณะกรรมการกองทุนประกอบด้วยกรรมการกองทุนฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายนายจ้างดำเนินการขอจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนฯ ออกข้อบังคับกองทุน จดทะเบียนแก้ไขข้อบังคับกองทุน จดทะเบียนการแต่งตั้งบริษัทจัดการ ฯลฯ และอาจทำหน้าที่เหมือน Trustee (ปัจจุบันยังไม่ใช้กฎหมาย Trustee แต่อนาคตอาจกำหนดไว้เป็นทางเลือก)
-  ในการนำเงินไปลงทุน บริษัทจัดการลงทุน (ผู้จัดการกองทุน) จะทำหน้าที่นำเงินไปลงทุนภายใต้กรอบการลงทุนที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งปัจจุบันบริษัทจัดการได้มีการกำหนดรูปแบบการลงทุนที่หลากหลาย (ภายใต้กรอบการลงทุน) เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถเลือกรูปแบบการลงทุนได้ ตามความเหมาะสมของตนเองมากขึ้น (Employees Choice) รวมทั้งเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนได้เมื่อเวลาเปลี่ยนไป
-  การเก็บรักษาทรัพย์สินของกองทุน จะมีผู้รับฝากทรัพย์สิน (Custodian) ซึ่งเป็นบุคคลที่ 3 แยกต่างหากจากบริษัทจัดการเป็นผู้รับฝากทรัพย์สินทั้งนี้บริษัทจัดการลงทุนและผู้รับฝากทรัพย์สิน ต้องมีคุณสมบัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด และต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.
-  นอกจากนี้ยังมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ตรวจสอบรับรองงบการเงินของกองทุนเพื่อให้ เป็นไปตามมาตรฐานสากล
-  การรับประกันผลตอบแทน : ไม่มี
7.การจัดเก็บเงิน (Collection) นายจ้างจะเป็นผู้หักเงินลูกจ้างและนำเงินสะสม / สมทบส่งบริษัทจัดการลงทุน พร้อมทั้ง Record ข้อมูลลูกจ้าง
8.เงินผลประโยชน์ทดแทน จะได้รับเท่ากับยอดเงินสะสม + เงินสมทบ + ผลตอบแทนของเงินสะสมและเงินสมทบ โดยได้รับเงินเป็นก้อนครั้งเดียว
9.สิทธิประโยชน์ทางภาษี

9.1 ลูกจ้าง
    -  เงินสะสมที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุน สามารถนำมาหักลดหย่อนในการคำนวณเงินได้เพื่อ เสียภาษีตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 10,000 บาท สำหรับส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกินปีละ 290,000 บาท ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเงินได้เพื่อเสียภาษี
    -  เงินก้อนที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนเมื่อเกษียณอายุหรือด้วยเหตุอื่นตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดได้แก่ ทุพพลภาพ ตาย ซึ่งประกอบด้วยเงินสะสม เงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสะสมและ เงินสมทบ ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเงินได้เพื่อเสียภาษี เงินก้อนที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนในกรณีอื่นๆ นอกเหนือจากที่ได้กล่าวมาแล้วจะต้องเสียภาษี โดยนำเงินดังกล่าวมาแยกหรือรวมกับเงินได้อื่น เพื่อเสียภาษีก็ได้ ซึ่งกรณีทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ให้นำเงินดังกล่าวมาหักค่าใช้จ่ายได้ 7,000 บาท X จำนวนปีที่ทำงาน เหลือเท่าใดให้หักค่าใช้จ่ายได้อีกครึ่งหนึ่ง
9.2 นายจ้าง
    -  เงินสมทบที่นายจ้างจ่ายเข้ากองทุน จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อ เสียภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้างของลูกจ้าง
9.3 กองทุน
    -  ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ โดยผลประโยชน์จากการนำเงินกองทุนไปลงทุน ทั้งในรูปของดอกเบี้ย เงินปันผล กำไรและส่วนเกินทุน ไม่ต้องคำนวณเงินได้เพื่อเสียภาษี ทั้งนี้ เงินก้อนที่ลูกจ้างได้รับกรณีออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพหรือตาย จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเงินได้เพื่อเสียภาษี ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการสำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย


ขอบคุณที่มา : https://www.fpo.go.th

 231
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์