หมด Passion ในการทำงาน ทำอย่างไรดี

หมด Passion ในการทำงาน ทำอย่างไรดี


หมด Passion ในการทำงาน ทำอย่างไรดี? คำถามยอดฮิตของมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานมาสักพัก อาจเกิดอาการหมด passion เบื่องานที่ทำ วันๆ นั่งทำงานแบบไร้ใจ เอาแต่นั่งคิดวนไปว่าจะทำอย่างไรให้ passion กลับมา สลับกับการมองหา passion ใหม่ๆ ที่ยิ่งหายิ่งไม่เจอ จนอยากลาออกไปตามหา passion ใหม่ในชีวิต  

แต่ก่อนจะลาออกแบบไร้ทิศทาง Adecco อยากชวนคุณเปิดมุมมองอีกด้านในการรับมือกับปัญหาหมด passion กันค่ะ เพราะบางทีการแก้ปัญหาด้วยการเติม passion หรือลาออก อาจไม่ใช่คำตอบเสมอไป แต่อยู่ที่การเข้าใจตัวเราเองและธรรมชาติของ passion ด้วย 

  • ธรรมชาติของ passion เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา 

เมื่อเรามี passion เราจะรู้สึกสนุก มีความสุข และมีพลังในการทำสิ่งต่างๆ  แต่ถ้าคุณลองทบทวนความรู้สึกเหล่านี้ดู คุณจะพบว่าที่จริงแล้วมันก็ไม่ได้อยู่กับเราตลอด เมื่อตอนเด็กๆ คุณอาจสนใจหรือมี passion ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่พอโตขึ้นได้มีประสบการณ์ลองทำอะไรหลายๆ อย่าง passion ของคุณก็อาจเปลี่ยนไปตามวัยและเวลา มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป นี่คือธรรมชาติของ passion และเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงความสนใจได้ตลอดเวลา  

ดังนั้นการที่เราทำงานมาสักพักแล้วรู้สึกเบื่อหน่ายหมด passion ก็เป็นเรื่องธรรมดา คุณจึงไม่ควรกังวลกับการหมด passion จนเกินไป เพราะในอนาคตคุณก็จะสามารถค้นพบ passion ใหม่ได้เอง เพียงแค่ใช้ชีวิตไปตามปกติ หมั่นเรียนรู้อะไรใหม่ๆ และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ก็จะช่วยเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ค้นพบ passion ใหม่ๆ ในอนาคต  

  • เลิกมองหา passion ในงาน แต่มองหา “คุณค่า” ของงานที่ทำ 

เมื่อเราหางานที่ชอบ เรามักไปโฟกัสว่าเนื้องานเป็นแบบที่เราชอบไหม แต่เชื่อหรือไม่ว่า ทุกอาชีพไม่ว่าจะอาชีพอะไรต่างก็ประกอบด้วยเนื้องานที่เราชอบและไม่ชอบผสมกันทั้งนั้น แต่ละอาชีพก็ย่อมมีความสนุก และความยากลำบากที่แตกต่างกันไป ดังนั้นสิ่งที่เป็น passion หรือแรงบันดาลใจในการทำงานที่แท้จริงจึงไม่ได้อยู่ในเนื้องานเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่คุณค่าของงานที่เราทำ ว่าเกิดประโยชน์กับผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างไร 

ยกตัวอย่างเช่น passion ของ recruiter ก็อาจไม่ได้อยู่ที่การชอบเขียนประกาศรับสมัครงาน หรือสัมภาษณ์คน แต่อาจเป็นความรู้สึกภูมิใจว่างานนี้เป็นงานที่ได้ให้โอกาสคน และช่วยเหลือให้คนมีงานทำและมีอาชีพที่ดี สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ สิ่งนี้คือคุณค่าในงานที่เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานของแต่ละอาชีพ 

ดังนั้นหากวันนี้คุณรู้สึกหมด passion คุณอาจต้องลองมองหาคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในงานที่ทำ หรือลองเริ่มต้นสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ในงานที่คุณทำอยู่ ให้งานแต่ละชิ้นของคุณมีความหมายและมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น คุณอาจเริ่มต้นจากการลองคิดว่าคุณสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อให้งานของคุณดีขึ้น หรืองานของคุณสามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นและสังคมอย่างไรได้บ้าง ก็จะช่วยให้คุณพบคุณค่าในงานที่ทำและมี passion ในการทำงานมากยิ่งขึ้นค่ะ 

  • Passion ไม่จำเป็นต้องอยู่ในงาน แต่อยู่ในงานอดิเรกก็ได้ 

คนที่ได้ทำงานที่ตรงกับ passion และความถนัดของตัวเองถือเป็นคนที่โชคดี แต่ก็มีคนอีกมากมายที่ไม่ได้มีโอกาสได้ทำงานตามที่ตัวเองชอบ ดังนั้นแทนที่จะนั่งจมอยู่กับความรู้สึกเซ็งหรือเสียดาย สู้เอาเวลาว่างจากการทำงานมาทำตาม passion ให้ชีวิตเรามีความสุขจะดีกว่า หลายคนมักพบว่า passion ของตัวเองมักอยู่ในรูปแบบงานอดิเรก บางคนอาจชอบตีกอล์ฟ บางคนชอบทำอาหาร บางคนชอบปลูกต้นไม้ บางคนชอบแต่งรถ ดังนั้นการเลือกทำอาชีพที่ถนัด แล้วนำเงินที่ได้มาสนอง passion ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ไม่เลวเลย   

ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องนำเอา passion มาประกอบเป็นอาชีพเสมอไป ไม่แน่ว่าการปล่อยให้ passion เป็นงานอดิเรกอาจทำให้คุณมีความสุขมากกว่าการนำงานอดิเรกมาเป็นอาชีพก็ได้ เพราะการทำเป็นอาชีพมักมีรายละเอียดปลีกย่อยของงานที่อาจทำให้คุณรู้สึกหมด passion ได้เหมือนกัน และที่สำคัญ passion เป็นคนละเรื่องกับทักษะและความรู้ความสามารถ ดังนั้นหากวันนี้คุณเจองานที่ตรงกับความถนัดแล้ว ก็เอาดีกับด้านนี้ให้เต็มที่ และให้ passion เป็นงานอดิเรกที่เอาไว้หย่อนใจ สร้างบาลานซ์ให้กับชีวิต  

  • หลายสิ่งในชีวิตที่สำคัญกว่า passion 

ความจริงข้อหนึ่งของการทำงานก็คือเราไม่ได้ทำงานเพื่อ passion อย่างเดียว แต่เราทำงานเพื่อความจำเป็นในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดูตัวเอง จุนเจือครอบครัว หรือการทำเพื่อสังคม สิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณมองเห็นว่าปัญหาเรื่อง Passion นี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่นัก และการยอมรับความจริงที่ว่า มีความจำเป็นอีกหลายอย่างในชีวิตที่สำคัญกว่า passion จะช่วยให้คุณสามารถไปต่อได้  

แต่หากการไม่ได้ไม่ทำงานตาม passion ทำให้คุณเป็นทุกข์ วันนี้คุณอาจต้องปล่อยวาง passion ก่อน และหันมาให้คุณค่ากับสิ่งที่สำคัญกว่าในปัจจุบัน ทำสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ตั้งใจทำงานพัฒนาตัวเองให้เต็มที่ และปล่อยให้ passion เป็นเรื่องของอนาคต ในวันที่คุณมีความพร้อมมากเพียงพอที่จะทำในสิ่งที่คุณรักหรือหลงใหลได้อย่างสบายใจ  

  • เปลี่ยนจากใช้ชีวิตตาม passion เป็นใช้ชีวิตตามเป้าหมาย 

เรามักถูกสอนว่าต้องทำตาม passion จึงจะประสบความสำเร็จ แต่ก็มีอีกแนวคิดหนึ่งที่ไม่ได้มองว่า passion เป็นส่วนสำคัญขนาดนั้น เพราะการจะประสบความสำเร็จในอาชีพยังต้องใช้ปัจจัยอีกมากมาย มีเพียง passion อย่างเดียวจึงยากที่จะประสบความสำเร็จได้  เพราะ passion ที่จริงแล้วก็เป็นเพียงความสนใจที่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือหมดลงได้ แม้วันที่คุณเปลี่ยนงานใหม่ไปแล้ว คุณก็สามารถหมด passion ได้ใหม่อีกอยู่ดี ดังนั้นหากเราใช้ชีวิตตาม passion ที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายนี้ คงยากที่จะถึงจุดหมาย  
การที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน สิ่งสำคัญคือการมีเป้าหมายอาชีพที่ชัดเจน และเป้าหมายนั้นจะเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวให้คุณมี passion ในการทำงานจนสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ เหมือนอย่างคำกล่าวหนึ่งที่ว่า “Don't follow your passion but always bring it with you” 

มองหาแอปพลิเคชันช่วย HR บระบบลาออนไลน์ (Employee Self-Service) ฟังก์ชันครบ ใช้งานง่ายผ่านระบบออนไลน์ สามารถจัดการและบริหารข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว รองรับการทำงานร่วมกับระบบ HRMI แบบ Real Time 

ที่มา : adecco.co.th/th

 26709
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

Background Checks คือการตรวจสอบประวัติอย่างละเอียด ครอบคลุมทั้งด้านข้อมูลส่วนตัว, ประวัติอาชญากรรม, ภาวะทางการเงิน, การศึกษา ตลอดจนบริบทอื่น ๆ ที่ส่งผลกับตำแหน่งที่สมัครเข้ามา
สวัสดิการที่องค์กรมอบให้แก่พนักงาน กับ สวัสดิการที่พนักงานต้องการ นั้น บางเรื่องก็เป็นสิ่งที่ตรงกัน ส่วนบางเรื่องก็เป็นสิ่งที่ต่างความเห็นกัน ในเรื่องนี้จากทาง Jobthai (jobthai.com) เคยทำบทความนำเสนอผลการสำรวจความคิดเห็นจากคนทำงานทั่วประเทศในประเด็นที่ว่า “สวัสดิการที่คนทำงานต้องการจากองค์กร” ซึ่งเป็นการทำผลสำรวจจากคนทำงานที่เป็นพนักงานทั่วไปจำนวน 7,420 คน ทั่วประเทศ โดยมีผลการสำรวจออกมาดังนี้
เคยได้ยินคำว่า Flexible Time กันอยู่บ่อย ๆ ว่าแต่เอ๊ะ มันคืออะไร ??
AQ หรือ Adversity Quotient คือความฉลาดในการรับมือกับปัญหา ทั้งสภาพกาย และจิตใจ ถูกบัญญัติขึ้นโดยพอล สโตลทซ์ (Paul Stoltz) เมื่อปี 1997 ว่า เป็นวิธีการประเมินความสามารถของแต่ละคนในการรับมือ และตอบสนองต่อความทุกข์ยาก โดยสถาบันชั้นนำอย่างฮาร์วาร์ด (Harvard), สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT) และคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon) ต่างก็ใช้ AQ เป็น ‘Golden Standard’ เพื่อประเมินว่า คนนั้นๆ จัดการกับความท้าทายอย่างไรด้วยกันทั้งสิ้น และยังค้นพบอีกด้วยว่า AQ มีความสัมพันธ์โดยตรงกับ ‘การเป็นผู้นำที่ดี’
การวางแผนอัตรากำลังคน (Manpower Planning) หรือ การวางแผนกำลังคน คือ กระบวนการในการคาดการณ์ หรือการวิเคราะห์ จำนวนความต้องการกำลังคนขององค์กร ประเภทพนักงานที่มีความสามารถเหมาะสมที่จะมาปฏิบัติงานให้พอเพียงกับการเปลี่ยนแปลง การขยายตัว หรือลดขนาดองค์กร เพื่อความเหมาะสมของขนาดองค์กร ตามความต้องการของธุรกิจให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่องค์กรได้กำหนดไว้
ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า "Face recognition" หรือ ระบบจดจำใบหน้า อย่างกว้างขวาง รวมไปถึงการนำไปใช้กับซอฟต์แวร์ในระบบ HR ในการสแกนใบหน้าเพื่อลงเวลาเข้า-ออกงานที่ออฟฟิศ เพื่อบันทึกประวัติการทำงานของพนักงาน ตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน คำนวณเงินเดือน รวมไปถึงการประเมินต่างๆ
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์