พักก่อน !!! ถ้าไม่อยากเป็นโรค Work From Home Burnout

พักก่อน !!! ถ้าไม่อยากเป็นโรค Work From Home Burnout



แม้ว่าจุดตั้งต้นของการได้ทำงานที่บ้านจะเป็นอะไรที่ไม่ใช่ข่าวดีนัก (เจ้าไวรัสนั่นไง) แต่เชื่อเลยว่าต้องมีหลายคนทีเดียวที่รู้สึกแอบดีใจว่าในที่สุดก็จะได้หยุดปิดเทอมอยู่กับบ้านเหมือนสมัยที่เรายังเป็นเด็กซักที ถึงแม้ว่าจะต้องทำงานไปด้วยก็เถอะ แต่ก็ยังมีความชิวมากกว่าต้องเดินทางฝ่ารถติดเป็นชั่วโมงๆ เพื่อไปยังออฟฟิศแสนรักในทุกวัน

แต่แล้วเมื่อได้เวลาผ่านไปซักพัก (ตอนนี้ก็เข้าสัปดาห์ที่ 3ในการ Work From Home สำหรับใครหลายๆคนแล้ว) ก็พบว่า เฮ้ย ทำไมมันไม่ชิวอย่างที่คิดเลย ทำไมชีวิตเริ่มเวียนวนสับสน ไอโต๊ะที่เรานั่งทำงานอยู่นี่ก็ดันเป็นโต๊ะที่นั่งเล่นเกม กินข้าว  เจ้าโซฟาตัวที่เรานอนเอนกายยามบ่ายปั่นงานกลับกลายเป็นที่นอนเอนกายดู netflix อย่างสบายใจยามค่ำคืน

จุดแบ่งระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตเริ่มที่จะ…พร่าเลือน

นานวันเข้าเริ่มรู้สึกเหนื่อยแปลกๆ ไฟในการทำงานที่เคยโหมแรงทำไมตอนนี้เริ่มรู้สึกว่ามันมอดลง ทำไมพอถึงเย็นวันศุกร์กลับไม่รู้สึกถึงความดีใจที่จะได้หยุดงาน ความแตกต่างทางความรู้สึกระหว่างวันทำงานและวันหยุดเริ่มไม่มี 

หากใครเริ่มมีอาการเทือกๆ นี้ก็บอกได้เลยว่า

ขอยินดีต้อนรับสู่สมาคมพ่อบ้านแม่บ้าน ‘Work From Home Burnout’

ต้องยอมรับจริงๆ ว่าไอเจ้าคำว่า Work From Home เนี่ยนะครับ จุดเริ่มต้นมันคือสวัสดิการแสนพิเศษที่บางบริษัทใจกว้างมอบให้พนักงานได้หยุดไปทำงานที่บ้านบ้างก็ได้ เพราะงานของหลายๆ อาชีพ เช่นพวกครีเอทีพ นักคิด นักเขียน โปรแกรมเมอร์ กราฟฟิกดีไซน์เนอร์ และอีกหลากหลายอาชีพมันมีเนื้องานที่ทำที่ไหนก็ได้ยังไงล่ะครับ ทีนี้คนที่เป็นผู้จัดการหรือหัวหน้าก็แค่ออกแบบระบบประเมินผลงานที่ถึงแม้ว่าตัวไม่อยู่ แต่ก็ไม่เป็นไร ถ้ามีผลงานที่ออกมามันใช้ได้มีคุณภาพดีก็ถือว่าผ่านแล้ว เหตุผลต้นเรื่องของแนวคิดนี้คือเขาเข้าใจว่าทุกมิติของมนุษย์มันเชื่อมโยงถึงกัน ถ้าชีวิตส่วนตัวคุณดี ก็มีแนวโน้มว่าพอมาทำงานประสิทธิภาพการทำงานก็ดีไปด้วย ทำให้หัวใจของ ‘สวัสดิการ’ Work From Home มันอยู่ที่คำที่เราคุ้นเคยกันดีนั่นก็คือ ‘Work Life Balance’ 

แบกคอมกลับไปทำงานที่บ้านบ้างซักอาทิตย์ละวันสองวัน เดือนหนึ่งก็ไม่เกิน 5-10 วัน กลับไปซักผ้าปูที่นอน คุยกับต้นไม้ เอาเวลาที่เคยเสียไปจากการเดินทางไปใช้กับครอบครัวให้มากขึ้น มีชีวิตที่มันช้าลงอีกซักหน่อย แต่ในขณะเดียวกันคุณก็ยังคงทำงานไปด้วยได้ เพื่อที่เมื่อคุณกลับมาที่ออฟฟิศอีกครั้ง คุณจะสดใสและเต็มไปด้วยพลังกว่าที่เคย

แต่แล้ว Covid-19 ก็เปลี่ยนนิยามของ Work From Home ไปตลอดกาล จากการผสานพลังจากนโยบาย ‘Social Distancing’ เพื่อให้เรา #ห่างกันซักพัก เชื้อไวรัสจะได้แพร่กระจายได้ลดลง

ผลคือ…ตอนนี้พนักงานจำนวนมหาศาลทั่วโลก (ที่เนื้องานสามารถทำแบบในลักษณะทางไกลได้) ถูกส่งตัวกลับบ้าน สำหรับหลายๆ คนนี่คือ ‘First time’ เป็นประสบการณ์ใหม่ถอดด้ามที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน นี่ไม่ได้พูดถึงแค่พนักงาน เพราะความปวดหัวที่แท้จริงกลับตกมาที่คนเป็นหัวหน้างาน ผู้นำองค์กร และคนที่ทำงานอยู่ในสายอาชีพทรัพยากรบุคคล (HR) ต่อให้เคยเก่งแค่ไหนในการบริหารทีมแต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเคยมีประสบการณ์บริหารทีมทางไกลแบบนี้มาก่อนในชีวิตนี้ นั่นก็เพราะสวัสดิการนี้ไม่ใช่สิ่งที่แพร่หลายในสังคมมนุษย์ออฟฟิศไทยมากขนาดนั้น

จากจุดเริ่มต้นที่น่าตื่นเต้น เมื่อเวลาผ่านไปซักพักปัญหาใหม่ก็ผุดขึ้น จากสวัสดิการที่มอบให้กับพนักงานไม่กี่วันต่อเดือนกลายมาเป็น ‘ทำงานที่บ้าน 100%’ ซึ่งจะนำมาซึ่งภาวะ “Work From Home Burnout ที่เราเกริ่นไว้ต้นบทความ

ในบทความ ‘3 Tips to Avoid WFH Burnout’ จาก ‘Harvard Business Review’ ได้เสนอแนวทางที่น่าสนใจมากในการแก้ไขปัญหานี้ทั้งหมด 3 Concept หลักดังนี้

1.แยกแยะอย่างแยบยล ไม่เผลอปนการงานและชีวิต (Maintain physical and social boundaries)

สิ่งที่ย้อนแย้งอย่างหนึ่งของการทำงานที่บ้านคือเหมือนว่าเราจะมีเวลามากขึ้น สบายมากขึ้น เลือกเวลาเองได้ว่าอยากจะทำอะไรในช่วงเวลาไหน แค่มั่นใจว่าทำงานได้เสร็จออกมาในระดับคุณภาพที่เทียบเท่ากับตอนที่เข้าออฟฟิศก็พอแล้วจริงไหมครับ

แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นกับแทบทุกคนที่เพิ่งอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านมาทำงานที่บ้านคือความยังไม่ชินกับสถานที่นั่นเอง พูดไปเหมือนเอาเรื่องที่รู้กันอยู่แล้วจะเอามาพูดทำไม แต่ต้องบอกว่าความจริงมีคนที่เขาทำงานวิจัยกันจริงจังๆ เลยนะครับว่าหนึ่งในข้อดีของการที่เราไปทำงานนอกบ้านนั่นคือสมองของเราจะมีการ ‘แยกแยะ’ ได้อย่างชัดเจนว่าสถานที่และกิจกรรมนั้นๆ มีไว้เพื่อทำอะไร นั่นคือการที่สมองมีการเชื่อมโยงสถานที่เข้ากับกิจกรรมที่เราทำ เราเลยจะเห็นทิปมากมายที่ออกมาพูดว่าการทำงานที่บ้านเราควรจะต้อง ‘จำลอง’ พิธีกรรมอะไรบางอย่างให้คล้ายคลึงกับตอนที่เราไปทำงาน หากเมื่อก่อนเรามีการอาบน้ำแต่งตัวและเดินทางไปยังออฟฟิศเป็น ‘กิจกรรมที่ใช้ขั้น’ ระหว่างการใช้ชีวิตและการทำงาน เจ้าจุดนี้ล่ะครับที่มันหายไปเมื่อเรามาทำงานที่บ้าน

ใครจะไปเชื่อว่าจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่สมอง ’งุนงง’ ในตอนต้นจะก่อให้เกิดภาวะต่างๆตามมามากมาย เอาที่พบได้บ่อยที่สุดเลยคือความรู้สึกว่าตัวเองต้องทำงานตลอดเวลา ซึ่งย้อนแย้งมากๆกับความเป็นจริงเพราะแค่เราปิดคอมตรงหน้าก็สามารถกระโดดขึ้นโซฟาไปนอนเล่นได้เลย แต่หากเราคิดให้ดี ความหมายของการพักผ่อนที่แท้จริงวัดจากการที่เราสามารถเอ็นจอยไปกับช่วงเวลาที่เราพัก ซึ่งจะทำแบบนั้นได้เราต้องพักทั้งตัวและหัวใจ ความหมายคือเราจะต้องไม่คิดเรื่องงานในระหว่างชั่วโมงพักผ่อน

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือพอสถานที่ทำงานกับที่บ้านกลายเป็นที่เดียวกัน โดยเราแค่ใช้ชีวิตไหลไปเรื่อยๆ เส้นแบ่งระหว่างกลางวันกับกลางคืนเริ่มพร่าเลือน แม้กระทั่งวันหยุดเสาร์อาทิตย์ยังไม่รู้สึกแตกต่าง ทุกหย่อมหญ้าตารางนิ้วของบ้านที่ใช้พักผ่อนทาบทับสนิทไปกับพื้นที่ที่ใช้ทำงาน ผนวกรวมกับภาวะระบาดของไวรัส ทำให้หลายคนรู้สึกไม่ปลอดภัยในการทำงาน หลายคนอยู่ในภาวะเครียดซึ่งสะท้อนออกมาเป็นความรู้สึกว่าต้องทำงานให้มากที่สุดเพื่อพิสูจน์กับหัวหน้าและทีมงานว่าเราเองสามารถที่จะทำงานได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องแม้จะทำงานที่บ้าน ทั้งหมดนี้หลอมรวมกันเป็นเชื้อไฟที่กำลังหมักตัวและพร้อมที่จะระเบิดออกเผยเป็นภาวะ Burnout

คำแนะนำของเราเพื่อหลักเลี่ยงมีทั้งหมด 3 ข้อ

หนึ่ง สร้างกิจกรรมที่เรียกว่า ‘Boundary-crossing activities’:   ซึ่งจะเป็นกิจกรรมที่เราต้องใช้คำว่าฝืนทำมันซักหน่อยนะครับ เพราะว่าเอาเข้าจริงเราไม่จำเป็นที่จะต้องทำมันก็ได้ แต่ที่เราควรทำเพราะมันจะเป็นตัวที่ช่วยลดความงุนงงของสมองของเราที่มีต่อสถานที่และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่ เช่น ก่อนเริ่มต้นทำงานในแต่ละวันเราอาจจะอาบน้ำแต่งตัวใส่ชุดที่มันมีความเป็นทางการหรือเรียบร้อยนิดนึงแต่อาจจะไม่ต้องถึงขั้นชุดทำงาน แต่ก็ยังดีกว่าเสื้อยืดกางเกงบอลหรือชุดนอนเพื่อเป็นการบอกสมองให้รู้ว่าเรากำลังจะเริ่มต้นทำงานแล้วนะ หรือในตอนเย็นหลังจากเราตัดสินใจแล้วว่าวันนี้พอแค่นี้ที่เหลือเอาไว้ทำต่อพรุ่งนี้ เราอาจจะปิดคอมแล้วไปอาบน้ำก่อนจะมานั่งเพลงสบายๆ ซักพัก โดยกิจกรรมนั้นจะเป็นอะไรก็ได้แล้วแต่การออกแบบของแต่ละคนได้เลย แค่ขอให้มันเป็นกิจกรรมที่ทำได้ง่าย สอดคล้องกับชีวิตจริงที่เราชอบทำอยู่แล้ว และทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สุดท้ายคือต้องทำมันได้ทุกวันเพื่อให้สมองของเราเชื่อมโยงกิจกรรมนั้นให้เรารู้สึกว่าโหมดการทำงานของวันนี้จบลงแล้ว หลังจากนั้นเราก็จะพักผ่อนหรือใช้ชีวิตในมิติอื่นๆของเราได้อย่างมีความสุขมากขึ้น โดยไม่ต้องมีความคิดเรื่องงานแว่บเข้ามาตลอดเวลา

สอง จัดแบ่งโซนการทำงานให้ชัดเจน:   ข้อนี้เป็นอะไรที่ตรงมา ทำง่ายและได้ผล สำหรับคนที่อยู่บ้านแทนที่คุณจะเปลี่ยนที่ทำงานไปเรื่อยในส่วนต่างๆ ของบ้าน เราแนะนำว่าให้คุณเลือกสถานที่ประจำเป็นมุมใดมุมหนึ่งของบ้านไปเลยที่จะใช้ทำงานแล้วตั้งกฎว่าจะไม่ใช้พื้นที่ตรงนั้นในการทำอย่างอื่นเลยนอกจากการทำงาน สำหรับคนที่อยู่หอพักหรือคอนโดที่อาจจะไม่ได้มีพื้นที่มากนักต้องยอมรับจริงๆ ว่าโจทย์ของคุณอาจจะยากกว่าคนอื่นเพราะโดยปกติแล้วเราแทบจะใช้ห้องของเราเป็นเพียงแค่ที่นอนเท่านั้น อาจจะไม่ได้มีโซน Living สำหรับใช้ในการทำงานทั่วไปๆมากนัก แบบนี้ก็คงต้องสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานขึ้นมาเสียหน่อย คุณอาจจะต้องซื้อโต๊ะ เก้าอี้ที่ใช้นั่งทำงานได้นานๆ (สำหรับสถานการณ์ตอนนี้อาจจะต้องซื้อออนไลน์) รวมถึงการแต่งห้องให้มีความน่าอยู่มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เนื่องจากภาวะ Burnout จะเกิดขึ้นมากกับกลุ่มคนที่มีที่อยู่อาศัยในลักษณะนี้แหละครับ

สาม ให้รางวัลตัวเองหลังการทำงาน: ข้อนี้เป็นทิปที่ผู้เขียนใช้แล้วได้ผลมากกับตัวเอง สำหรับคนที่พอเลิกงานแล้วเลิกคิดเรื่องงานไม่ได้ สาเหตุหนึ่งคือเราอาจจะรู้สึกว่าเราทำงานไปได้ไม่มากพอ หรือน้อยกว่าที่เราตั้งเป้าหมายเอาไว้ในช่วงเวลาทำงาน พอเลยเวลางานปกติมาแล้วเราเลยรู้สึกว่าเรายังทำงานไม่พอ ประกอบกับคิดว่ายังไงก็บริหารเวลาการทำงานตัวเองได้ตลอดอยู่แล้วเลยตัดสินใจทำงานเพิ่มเข้าไปอีกแม้ว่าจะล่วงเลยเวลางานไปแล้ว การที่เราสร้างเงื่อนไขกับตัวเองที่เป็นรางวัลที่จะได้รับหลังการทำงานเสร็จสามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะตั้งเป้าว่าถ้าเราทำงานใน To do list นี้ได้เสร็จก่อนหกโมงเย็นวันนี้ เราจะให้รางวัลตัวเองในการ XXX ซึ่งมันอาจจะเป็นอะไรก็ได้ที่เราสนุกเพลิดเพลินกับมันมากๆ เช่น เล่นเกมโปรด ดูซีรีย์ตอนโปรด  (แนะนำให้ใส่กิจกรรมที่เราอยากทำมากจนมีโอกาสที่เราจะหยิบเอามาทำในเวลางาน) ประโยชน์ของการสร้างเงื่อนไขแบบนี้เป็นเครื่องมือช่วยสร้างวินัยคือทำให้เราอดใจรอที่จะทำสิ่งที่อยากทำมากๆ เอาไปไว้ที่หลังทำให้เราไม่เผลอทำสิ่งเหล่านั้นในเวลางาน ประโยชน์ข้อที่สองคือทำให้เรามี ‘ภารกิจ’ ประจำวันว่าถ้าเราทำงานไม่ได้ตามเป้าเราก็จะไม่ได้ทำสิ่งที่อยากทำ ซึ่งวิธีนี้จะดีกว่าการปล่อยให้ตัวเองเผลอทำสิ่งเหล่านั้นในเวลางานส่งผลให้งานในแต่ละวันไม่เสร็จตามที่ตั้งใจ อีกทั้งตอนที่ทำก็จะรู้สึกผิดกับตัวเองอยู่ตลอดเวลาทำให้ไม่ได้รับความสุขจากกิจกรรมนั้นอย่างที่ควรจะเป็น  ซึ่งจะแตกต่างอย่างมากกับการที่เราได้รับรางวัลเหล่านั้นหลังจากที่ทำเป้าหมายที่ตั้งไว้จนหมดแล้ว เพียงเท่านี้เราก็จะไม่มีปัญหาในเรื่องของการกังวลเรื่องงานในเวลาพักผ่อนนั่นเอง

2.อย่าให้อะไรมากวนใจ อย่าให้ผู้ใดมากวนคุณ (Maintain temporal boundaries as much as possible)

ใครว่าทำงานที่บ้านแล้วสบายนั้นไม่จริงเลย เพราะงานที่ทำยังคงเท่าเดิม เราเพียงแต่ย้ายสถานที่ทำงานเท่านั้น สิ่งที่พ่วงแถมติดมาด้วยคือความยากลำบากในการติดต่อสื่อสารที่มากขึ้น จากเดิมที่แค่เงยหน้าข้ามโต๊ะเรียกหากันได้อาจกลายเป็นต้องส่งข้อความที่อาจจะไม่ได้รับทันทีด้วยซ้ำ

ยังไม่พออีกปัญหาหนึ่งคือเรื่องของสิ่งรบกวนทั้งที่มาจากการที่เราเตรียมสภาพแวดล้อมการทำงานได้ไม่ดีเอง เช่น ไปนั่งทำงานอยู่หน้าทีวี หรือการที่คนในบ้านเดินผ่านไปมาคอยเรียกเราทำนู่นทำนี่ตลอดเวลา  

ทั้งหมดนี้สามารถทำให้ชั่วโมงการทำงานที่บ้านของเรามีลักษณะที่แตกขาดแยกออกเป็นท่อนๆ ตลอดทั้งวัน ซึ่งแบบนี้ไม่ดีแน่เพราะงานหลายงานมีธรรมชาติที่ค่อนข้างเรียกร้องสมาธิจากเราค่อนข้างมาก ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น การเขียนรายงาน การวิเคราะห์ปัญหาทางธุรกิจ การตัดต่อวีดีโอ งานแบบนี้ถ้าถูกขัดในระหว่างที่เรากำลังอยู่ในภาวะไหลลื่น มีงานวิจัยบอกว่าเราจะต้องใช้เวลาอีกซักพักใหญ่ทีเดียวเลยกว่าจะกลับมาโฟกัสได้ด้วยพลังสมาธิเท่าเดิมได้

ซึ่งเอาเข้าจริงปัญหานี้เป็นอะไรที่จัดการได้ไม่ยากอย่างที่คิด แต่อย่างแรกเราต้องสังเกตตัวเองให้ได้ก่อนว่าจริงหรือไม่ที่พักหลังมานี้ตั้งแต่กลับมาทำงานที่บ้านระดับ Productivity ของเราลดน้อยถอยลง ถ้าใช่ยิ่งต้องรีบแก้เลย

สิ่งที่สามารถทำได้ทันทีเพื่อลดสิ่งรบกวนแบบนี้

หนึ่ง เวลาที่จะโฟกัสงานหนักๆ ให้เปิดโหมด Do not disturb ตัดปัญหา Notification กวนใจทั้งหมดออกไป

สอง คุยกับเพื่อนร่วมทีมและหัวหน้าให้เข้าใจถึงช่องทางการสื่อสาร เช่นถ้ารีบให้โทรมาหา ถ้างานไม่เร่งให้ส่งทางอีเมลล์ ถ้าเป็นงานที่รอได้สามารถส่งให้ทาง Slack เป็นต้น 

สาม ปรับความคาดหวังของทีมงานให้สอดคล้องกับชีวิตที่บ้านของเรา เช่น ถ้าเราสมองเล่นตอนช่วงเช้าๆ เราย่อมเลือกใช้เวลานี้ไปกับงานที่ต้องใช้พลังงานสมองเยอะที่สุด เพราะฉะนั้นเราควรสื่อสารให้ทุกคนรู้ว่าช่วงเช้าเราอาจจะไม่ได้ตอบแชทไวมากนัก เชื่อว่าทำแบบนี้ไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ทุกคนในทีมจะเริ่มจับจังหวะชีวิตของกันและกันได้ 

โดยรวมแล้วทิปทั้งสามข้อมันเข้ามาอุดช่องโหว่ของความแตกต่างในการทำงานที่บ้านและที่ออฟฟิศ เพราะตอนอยู่ที่ทำงานทุกคนสามารถเห็นสีหน้าท่าทาง ภาษากาย พูดง่ายๆ ว่าเห็นได้ชัดว่าเพื่อนร่วมงานอยู่ในโหมดโฟกัสหรือโหมดชิว ทำให้เราเลือกจังหะการติดต่อสื่อสารได้ค่อนข้างเหมาะสม แต่พอปรับมาอยู่บ้านทิปสามข้อนี้แม้จะต้องลงแรงทำในช่วงต้น แต่พอเข้าที่เข้าทางแล้วในระยะยาวจะทำให้ระดับ Productivity ของเราสูงขึ้นได้ (แต่ก็อย่ากดดันตัวเองว่ามันจะต้องกลับมาสูงเท่าเดิมทันที ทุกการปรับตัวต้องใช้เวลา)

3.โฟกัสแค่งานที่สำคัญที่สุด แล้วพอ! (Focus on your most important work)

ถามว่าทำไมต้องโฟกัสงานที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่ว่าหลักการข้อนี้เป็นอะไรที่เราควรใช้ตลอดเวลาไม่ใช่หรือ ?

สำหรับคนที่ศึกษาเรื่องจิตวิทยาพัฒนาตนเองก็พอจะรู้กันดีอยู่แล้วว่ากฎข้อนี้เป็นอะไรที่สำคัญมาก เพราะสิ่งที่ทำให้เราก้าวหน้าในการงาน หรือชิ้นงานที่จะมี Impact สร้งผลกระทบกับผู้อื่นได้มากมายจริงๆ ล้วนเป็นงานแค่หยิบมือเดียวจากงานทั้งหมดที่เราทำในแต่ละวัน ที่บอกว่าหยิบมือเดียวไม่ได้แปลว่ามันเป็นงานง่ายๆ หรืองานที่ไม่ต้องใช้เวลาทำนะครับ แต่มันคืองานที่ถ้าเราให้เวลาเพื่อโฟกัสกับมันและทำมันออกมาให้ดีที่สุดมันจะส่งผลบวกต่อการทำงานมากกว่างานอื่นๆ อีกมายมากที่ไม่ได้มีความสำคัญทั้งหมดรวมกันเสียอีก ยกตัวอย่าง เช่น สำหรับนักเขียนเนื้อหาออนไลน์ แม้จะมีงานอื่นๆที่เหมือนกับคนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นการเข้าประชุมกับทีม การเช็คอีเมลล์เพื่อติดต่อสื่อสาร การคิดไอเดียภาพประกอบบทความร่วมกับทีมผลิตสื่อ การตั้งโพสบทความลงในโซเชียลมีเดีย หากพิจารณาให้ดีงานเหล่านี้ล้วนเป็นงานที่จำเป็นแต่อาจไม่ได้สำคัญมากเท่าไหร่เมื่อเทียบกับการเขียนชิ้นงานออกมาให้ดีที่สุด สิ่งที่เราควรทำในแต่ละวันคือเราควรมีการแบ่งเวลาเพื่อโฟกัสกับกิจกรรมหลักของเราอย่างเต็มที่โดยไม่มีสิ่งรบกวนจากงานเล็กงานน้อยที่จำเป็นต้องทำแต่ไม่ได้สำคัญต่อความสำเร็จในการทำงานของเราขนาดนั้น

เมื่อเรากลับมาทำงานที่บ้านเป็นเรื่องง่ายๆมากเลยที่เราจะหลงไปกับการทำงานที่ไม่ได้มีความสำคัญเท่าไหร่ เราอาจจะทดแทนความรู้สึกว่าได้ทำงานมากมายไปแต่ละวันแต่พอมากางดูจริงๆ อาจพบว่าตัวงานหลักจริงๆของเรากลับไม่เดินหน้าเท่าที่ควร แล้วสุดท้ายพอจบวันเราก็จะมานั่งกังวลในงานหลักของเราทำให้ไม่สามารถหยุดคิดเรื่องงานได้ ในทางกลับกันต่อให้เราขีดฆ่า To do list ไปไม่มากเท่าไหร่ แต่ที่ขีดทิ้งไปเป็นงานที่สำคัญจริงๆ ความรู้สึกแห่งความสำเร็จตรงนั้นก็จะทำให้เราหมดห่วงหมดกังวล และจบวันได้อย่างมีคุณภาพนั่นเอง

ที่มา : th.hrnote.asi

 668
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์