วิธีจับสังเกตมิจฉาชีพและประกาศงานปลอม

วิธีจับสังเกตมิจฉาชีพและประกาศงานปลอม



ในยุคที่มิจฉาชีพพร้อมเข้าถึงคุณทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ ข้อความ SMS รวมถึงลิงก์ต่าง ๆ ตามเว็บบราวเซอร์ในอินเทอร์เน็ต เอาว่าแค่กด 1 ครั้งชีวิตก็เป็นหนี้ได้ จะเห็นว่ากลโกงต่าง ๆ ขยับเข้ามาอยู่รอบตัวเรามากขึ้น รันทุกวงการ ไม่เว้นแม้กระทั่งประกาศงานปลอม ทำอะไรก็ต้องระแวดระวังไปหมด อันไหนจริงอันไหนปลอม เราเองในฐานะผู้สมัครงานจำต้องมีสติและวิจารณญาณที่ดีอยู่เสมอ

5 วิธีจับสังเกตมิจฉาชีพและประกาศงานปลอม

ขอบคุณบทความจาก JobsDB ที่นำทริกเล็ก ๆ น้อย ๆ มาฝากกัน ดูไว้ให้รู้ อ่านไว้ให้เข้าใจจะได้เท่าทันมิจฉาชีพ แล้วลองไปจับสังเกตดูว่างานที่คุณกำลังจะสมัครนั้น มีแนวโน้มหรือมีความเสี่ยงเป็นประกาศงานปลอมหรือไม่ ซึ่งทั้ง 5 ข้อที่บทความนี้นำมาฝากกันนั้น เป็นเพียงความเสี่ยงที่อาจจะเป็นเท่านั้น จะใช่หรือไม่ใช่ก็ได้

1. บริษัทเป็นฝ่ายติดต่อมาเอง

ข้อนี้พูดในแง่ที่ตัวคุณเองไม่ได้ไปฝากโปรไฟล์หรืออัปเดตเรซูเมทิ้งไว้ในเว็บไซต์ไหน แต่ถ้าเพิ่งทำสิ่งเหล่านั้นไป การที่จะมีบริษัทติดต่อมานั้นไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ให้ข้ามไปอ่านความเสี่ยงในข้อต่อไปได้เลย

ส่วนใครที่ไม่ได้อัปเดตอะไรไว้ แล้วจู่ ๆ มีองค์กรติดต่อมาแบบงง ๆ ตรงนี้อาจจะต้องสงสัยแบบเอะใจนิดหนึ่ง ว่าได้คอนแทคหรือข้อมูลส่วนตัวคุณมาจากที่ไหน ทำไมจู่ ๆ ถึงพุ่งเป้ามาที่เรา ตำแหน่งที่เขาติดต่อมาตรงกับสายงานที่คุณทำอยู่หรือสนใจไหม ซึ่งทั้งหมดนั้นแนะนำให้สอบถามกับคนที่ติดต่อมาได้เลย ถามแบบเจาะจงลงรายละเอียด ถ้าเขามีอาการอึกอัก ตอบคำถามเราแบบไม่สนิทใจ ให้ปักใจไปเลยว่ามิจฉาชีพ 

ทั้งนี้ไม่ต้องกลัวว่าถามเยอะแล้วจะดูไม่ดี เพราะถ้าเขาสนใจคุณจริง ๆ เป็นบริษัทจริงที่ไม่เลื่อนลอย คำถามทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ตอบได้อยู่แล้ว เว้นแต่ว่าจะประกาศงานปลอม หาคนทำงานไม่ตรงกับ Job description

2. ลักษณะภาษาที่ใช้ ไม่เป็นทางการ

ในแง่ของการทำงาน ไม่ใช่องค์กรเลือกคนทำงานเท่านั้น คนทำงานก็เลือกองค์กรไม่ต่างกัน ปราการด่านแรกของการสมัครงานคือการเขียนประกาศหางาน รายละเอียดของ Job description ฐานเงินเดือน Benefit ต่าง ๆ ของตำแหน่งที่ประกาศรับสมัคร HR จำเป็นต้องบอกให้ชัดเจน 

หากบริษัทไหนลงรายละเอียดกว้าง ๆ ใช้ภาษาไม่ทางการ อ่านแล้วไม่เข้าใจ หรือเขียนแบบไม่ลงดีเทล ก็ให้เอะใจไว้ก่อน เพราะนอกจากจะดูไม่น่าเชื่อถือแล้ว ยังดูเหมือนไม่ให้เกียรติคนทำงานด้วยเช่นกัน เป็นเรื่องที่มองผิวเผินอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แต่สิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้แสดงถือความน่าเชื่อถือขององค์กรได้

3. ไม่มีข้อมูลหรือที่ตั้งบริษัทที่ชัดเจน

อีกหนึ่งสิ่งที่อยากให้ผู้สมัครงานดูด้วยว่า องค์กรที่คุณเลือกสมัครไปหรือติดต่อมานั้น อยู่ในทำเลไหน มีที่ตั้งหรือออฟฟิศอยู่จริงไหม ถ้าไม่มีเป็นหลักแหล่งเพราะเน้นการ Work From Home หรือ Work From Anywhere เป็นหลัก ด้วยเหตุผลนี้ในยุคนี้ก็พอเข้าใจได้ แต่ควรเช็กดูว่าจดแจ้งเป็นบริษัทจริงหรือไม่ ดูภาพรวมและลักษณะงานแล้วน่าเชื่อไหม 

แน่นอนว่าด้วยยุคเทคโนโลยีอยู่ที่ปลายนิ้วแบบนี้ ทุกอย่างสามารถตรวจสอบได้หมด เพียงแค่คุณใส่ใจและไม่เดินอยู่เส้นทางแห่งความประมาท อย่าปล่อยปละละเลยสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะนำไปสู่ความผิดพลาดครั้งใหญ่ได้ ทั้งนี้หากเช็กดูแล้วพบว่า องค์กรนี้ไม่มีที่ตั้งแล้วยังไม่จดทะเบียนบริษัทอีก ก็ให้ตีความว่าเข้าข่ายประกาศงานปลอม หรือมิจฉาชีพได้ 

4. ขอข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป

จริงอยู่ที่การสมัครงานจำต้องบอกรายละเอียดข้อมูลส่วนตัว แต่การให้ Data เหล่านั้น ย่อมต้องมีขอบเขตเช่นเดียวกัน ข้อนี้เอาจริง ๆ อธิบายให้เห็นภาพค่อนข้างยาก เป็นคอมมอนเซนส์เฉพาะตัวของแต่ละคน แต่เชื่อว่าทุกคนจะรู้เองว่า คำถามบางอย่างไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องงาน ข้อมูลบางอย่างขอไปเพื่ออะไร ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน 

อะไรที่ “มากเกินไป” เชื่อว่าผู้สมัครงานทุกคนดูออก แต่อยู่ที่จะฉุกใจคิดไหม ซึ่งจริง ๆ ตรงนี้เป็นสิทธิ์ของเราที่จะตอบหรือไม่ตอบก็ได้ หรือสงสัยก็ให้ถามไปได้เลยว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างไรในการคัดเลือกผู้สมัคร เพราะบางครั้งมิจฉาชีพก็มาในคราบ HR ทำเป็นโทรมาสอบถามข้อมูล แล้วเอา Data ส่วนบุคคลไปขายต่อก็มี 

5. ให้จ่ายเงินค่าสมัครงาน

สี่ข้อด้านบน อาจจะยังเป็นสิ่งที่พอหลับหูหลับตาแบบไม่ชี้ชัดได้ แต่ถ้างานนั้นต้องเสียเงินค่าสมัครด้วย จุดนี้ถือว่ามีแนวโน้มสุดว่าจะเป็นประกาศงานปลอม หรือมิจฉาชีพเข้ามาหลอกเงิน เพราะอาชีพสุจริตส่วนใหญ่ที่เปิดรับกันปกติ แทบจะไม่ต้องเสียเงินในการสมัคร ไม่นับพวกข้าราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่การแข่งขันสูง จนต้องเปิดสนามสอบกันครั้งละมาก ๆ เว้นแต่ว่างานที่คุณสมัครไปนั้น จะไม่ใช่สิ่งถูกกฏหมายตั้งแต่แรก อันนั้นถ้าจะต้องเสียเงินก็เป็นเรื่องปกติ

ดังนั้น ถ้ามีการเรียกเก็บเงิน แนะนำให้สอบถามให้ดีอย่างถี่ถ้วนว่าเหตุผลที่เขาให้มามันสมเหตุสมผลไหม หรือถ้าไม่อยากเสียเวลาก็ให้บอกผ่านได้เลย เท่าที่เห็นองค์กรใหญ่ ๆ ระดับประเทศ แทบจะไม่มีเรื่องเรียกเก็บเงินค่าสมัครเลย เน้นวัดกันที่ความสามารถล้วน ๆ อย่างการสอบแข่งขัน หรือสัมภาษณ์หลายรอบมากกว่า เรื่องเรียกเก็บเงินค่าสมัครแทบจะไม่มีเห็นเลย

ทั้งนี้หากคุณสงสัยว่าประกาศงานดังกล่าวนั้นไม่เป็นความจริง เข้าข่ายขบวนการมิจฉาชีพหรือไม่ สามารถสอบถาม ขอคำแนะนำหรือตรวจสอบองค์กรนั้น ๆ ได้ที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://www.doe.go.th หรือโทร.022479423

สามารถอ่านบทความน่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี่ คลิ๊ก!!

 
ขอบคุณที่มา : JobsDB

 237
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์