การคัดเลือกผู้สมัครงานที่มีประสบการณ์ไม่ตรงสายงาน

การคัดเลือกผู้สมัครงานที่มีประสบการณ์ไม่ตรงสายงาน



การจ้างผู้ที่มีประสบการณ์ในสายงานนั้น ๆ มาทำงานในตำแหน่งที่บริษัทกำลังเปิดรับอยู่ มีโอกาสที่จะได้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งบริษัทไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมและเวลาในการสอนงานมากนัก แต่ค่าจ้างอาจสูงเนื่องจากผู้สมัครงานย่อมมีอำนาจในการต่อรองเงินเดือนสูงตามประสบการณ์ ทั้งที่งานบางตำแหน่งอาจไม่จำเป็นต้องจ้างคนที่มีประสบการณ์ตรงเพราะสามารถเรียนรู้งานได้ ตรงกันข้าม การจ้างนักศึกษาจบใหม่หรือคนไม่มีประสบการณ์การทำงานเลยทำให้บริษัทไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสูง อีกทั้งตัวผู้สมัครเองยังไฟแรงพร้อมที่จะเรียนรู้งาน แต่บริษัทอาจต้องลงทุนในเรื่องของการฝึกอบรมและตัวผู้ทำงานเองอาจต้องใช้เวลาค่อนข้างนานในการปรับตัวให้เข้าที่เข้าทาง ดังนั้น การจ้างคนที่เคยทำงานมาบ้าง แต่ยังไม่มีประสบการณ์ในตำแหน่งงานนี้มาก่อน อาจเป็นทางเลือกที่ดี เหตุผลคือ ผู้สมัครงานที่ยังไม่มีประสบการณ์ หรือผู้ที่ต้องการเปลี่ยนงานที่ทำจากสายหนึ่งมาทำอีกสายหนึ่งที่ตนสนใจอยู่มักไม่เรียกเงินเดือนสูงจนเกินไป เพราะสิ่งที่พวกเขาต้องการ คือโอกาสในการเรียนรู้งานเพื่อนำประสบการณ์ไปใช้สร้างความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพของตนเอง ผู้สมัครงานมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้งานหากมีโอกาสได้ทำ เพราะเป็นงานที่ตนเลือกแล้วว่าสนใจ เนื่องจากผู้สมัครงานเคยทำงานมาก่อน เมื่อเปลี่ยนมาทำงานในอีกสายงานหนึ่ง แม้ว่าอาจต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ทักษะเฉพาะทางอยู่บ้างแต่ก็สามารถปรับตัวได้เร็วในระดับหนึ่ง

ดังนั้น เมื่อบริษัทตัดสินใจว่าจะจ้างคนที่มีประสบการณ์ไม่ตรงสายงานแล้วสิ่งที่ควรถามผู้สมัครในการสัมภาษณ์งานเพื่อคัดเลือกพนักงานที่มีความเหมาะสมกับตำแหน่งงานมากที่สุด มีดังนี้

1. พื้นฐานการศึกษาและประสบการณ์การทำงานเดิม ผู้สัมภาษณ์ควรสอบถามขอบเขตของงานที่ผู้สมัครทำมาก่อนหน้านี้ ความรู้ที่ผู้สมัครเคยเรียนมา แล้วดูว่าตัวผู้สมัครจะสามารถนำมาเชื่อมโยงกับตำแหน่งงานนี้ได้อย่างไร เนื่องจากความรู้หรือหลักการในงานด้านหนึ่งอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานอีกด้านหนึ่งได้หากตัวผู้สมัครรู้จักประยุกต์ใช้

2. ความสนใจในตำแหน่งงาน และความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการทำงาน ผู้สัมภาษณ์งานอาจลองถามผู้สมัครเกี่ยวกับสิ่งที่สนใจ งานอดิเรก ทักษะหรือความสามารถพิเศษ แล้วให้ผู้สมัครงานอธิบายว่าสิ่งที่เขาสนใจ ชอบ หรือถนัดนั้นจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำงานได้อย่างไร ทั้งนี้การเลือกผู้สมัครที่มีความสนใจและความรู้ที่เอื้อต่อการทำงานในตำแหน่งงานนั้น ๆ จะทำให้ได้คนทำงานที่ไม่รู้สึกว่าการปรับตัวให้เข้ากับงานเป็นเรื่องยากลำบากและฝืนธรรมชาติ อีกทั้งยังเรียนรู้งานได้เร็วอีกด้วย

3. วิธีการและความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้งานและพัฒนาตนเอง ผู้สัมภาษณ์ควรดูว่าที่ผ่านมาผู้สมัครมีวิธีการค้นคว้าหาความรู้อย่างไร และหากมีโอกาสได้ทำงานแล้วจะมีแนวทางในการพัฒนาตนเองอย่างไรบ้าง เนื่องจากผู้เป็นหัวหน้าเองคงไม่มีเวลาที่จะมาสอนงานหรือให้คำแนะนำไปหมดทุกเรื่อง จึงควรแน่ใจว่าหากได้คนมาทำงานแล้วก็ควรเป็นคนที่รู้จักการพัฒนาตนเองโดยไม่ต้องรอให้ใครบอกว่าต้องทำอะไรบ้าง

4. บุคลิกภาพ วิสัยทัศน์ และทัศนคติที่ดีในการทำงาน การที่จะดูว่าผู้สมัครงานมีบุคลิกภาพหรือทัศนคติที่ตรงกับความต้องการของบริษัทหรือไม่ ผู้สัมภาษณ์งานอาจให้ผู้สมัครเล่าให้ฟังว่ามีความรู้สึกอย่างไรกับงานที่ทำก่อนหน้า มีวิธีการแก้ปัญหาในการทำงานอย่างไร จุดแข็งจุดอ่อนของตนเองมีอะไรบ้าง มีความรู้สึกอย่างไรต่องานที่มาสมัคร หรือทำไมจึงมาสมัครงานนี้ และหากได้รับเลือกแล้วจะทำอะไรให้บริษัท

จะเห็นได้ว่า แม้ตัวผู้สมัครจะมีประสบการณ์ที่ไม่ตรงสายงาน แต่สิ่งที่อาจชี้วัดว่าตัวผู้สมัครมีความเหมาะสมกับตำแหน่งงานนั้น ๆ หรือไม่ ก็คือ คุณลักษณะเฉพาะตัวของผู้สมัครนั่นเอง



บทความโดย : th.jobsdb.com
ประกาศบทความโดย : www.prosofthrmi.com
 5663
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์