ต่าง Gen ต่างใจ แล้วจะทำงานร่วมกันอย่างไรดี (ตอนจบ)

ต่าง Gen ต่างใจ แล้วจะทำงานร่วมกันอย่างไรดี (ตอนจบ)



จาก 4 ตอนที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านน่าจะพอเห็นและเข้าใจในคุณลักษณะของคนในแต่ละ Gen ไปบ้างไม่มากก็น้อย และเมื่อเราเข้าใจลักษณะที่แตกต่างกันในแต่ละ Gen แล้ว สิ่งที่ผู้บริหาร และ ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะต้องดำเนินการต่อ ก็คือ การวางระบบการบริหารงาน และบริหารคน เพื่อที่จะทำให้คนทั้ง 3 Gen สามารถทำงานร่วมกัน และ สร้างผลงานให้กับองค์กรได้ตามเป้าหมายที่กำหนด

สิ่งที่สำคัญมากๆ ในการวางระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลในองค์กรที่ต้องมีทั้ง 3 Gen ทำงานร่วมกันอยู่นั้น จะออกแบบการบริหารแบบสมัยก่อนไม่ได้อีกต่อไป ในอดีตระบบงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบการสรรหาคัดเลือก การพัฒนาคน การบริหารค่าตอบแทน และสวัสดิการ ฯลฯ องค์กรมักจะออกแบบเป็นระบบเดียว และใช้งานกับพนักงานทุกคน แต่ในยุคนี้เราไม่สามารถทำแบบนั้นได้อีกต่อไปสำหรับองค์กรที่มีหลาย Gen สิ่งที่ต้องยึดถือไว้ให้มั่นในการออกแบบระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลก็คือ

• ออกแบบโดยให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น กล่าวคือ จะมีระบบเดียวก็คงจะไม่ได้อีกต่อไป การบริหารงานอาจจะต้องมีการเปิดกว้างมากขึ้น ออกแบบให้มีหลายระบบ ให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในแต่ละ Gen เช่น ระบบการสรรหาคัดเลือก เราก็ไม่สามารถที่จะใช้วิธีเดียวได้อีกต่อไป ระบบการพัฒนา ก็ต้องดูให้สอดคล้องกับแต่ละ Gen ระบบการบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ ก็ต้องมีความยืดหยุ่นมากพอที่จะตอบสนองความต้องการของคนในแต่ละ Gen ได้อย่างดี

• One size fits all ใช้ไม่ได้อีกต่อไป องค์กรที่มีพนักงานหลายหลายรุ่น แล้วทำระบบเดียวเพื่อใช้กับทุกคนในองค์กรนั้น เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้นการที่เราจะวางระบบอะไรซักอย่างในองค์กร สิ่งแรกที่จะต้องพิจารณาก็คือ ระบบนั้นๆ มีความยืดหยุ่น และสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้มากสักแค่ไหน

นอกจากนั้น สิ่งที่เราจะต้องพิจารณาต่อก็คือ ทุก Gen จะมีบางอย่างที่เขามีความต้องการคล้ายๆ กัน ถ้าลองกลับไปอ่านบทความเก่าๆ ดู จะเห็นว่ามีสิ่งที่ทุก Gen ต้องการเหมือนกัน ก็คือ

• ความก้าวหน้าในการทำงาน ทุก Gen ที่เข้ามาทำงานในองค์กร ล้วนต้องการความก้าวหน้าในการทำงาน ไม่มี Gen ไหนที่บอกว่า ไม่อยากก้าวหน้า

• ได้มีโอกาสเรียนรู้ และพัฒนาทักษะใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งประเด็นนี้ก็คือ สิ่งที่จะไปส่งเสริมให้พนักงานเกิดความก้าวหน้าในการทำงานตามข้อแรกได้

• ได้รับการยอมรับจากหัวหน้าของตนเอง ทุก Gen ล้วนต้องการ Recognition ที่ดีจากหัวหน้าของเราเอง ต้องการการชื่นชม การพูดคุย และบอกกล่าวในเรื่องของผลงานจากหัวหน้าของตนอยู่เสมอ

• สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี ทุก Gen ต้องการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ดี ทำงานแล้วมีความสุข สนุกกับงาน กับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า

• ค่าตอบแทนและสวัสดิการ ทุก Gen ต้องการเรื่องนี้เหมือนกัน ไม่มี Gen ไหนที่บอกว่าจะมาทำงานโดยไม่รับเงินเดือน หรือไม่ต้องการสวัสดิการที่ดี

เมื่อทราบดังนี้แล้ว การออกแบบระบบบริหารทรัพยากรบุคคลที่จะทำให้ ทุก Gen รู้สึกอยากทำงานกับองค์กรอย่างต่อเนื่อง ก็จะออกมาให้เราเห็นอย่างชัดเจน ระบบงานต่างๆ ที่องค์กรจะต้องสร้างให้เกิดขึ้นเพื่อให้การบริหารคนแต่ละ Gen ในองค์กรเป็นไปได้ด้วยดี สามารถดึงดูดและรักษาพนักงานไว้ได้ ก็มีดังต่อไปนี้ครับ

• ระบบการพัฒนาคน การออกแบบระบบการพัฒนา Training Roadmap ต่างๆ ที่สอดคล้องกับตำแหน่งงาน และความก้าวหน้าของตำแหน่งงาน

• ระบบความก้าวหน้าในสายอาชีพ เป็นระบบที่สามารถบอกพนักงานได้ว่า เข้ามาทำงานที่นี่แล้วจะสามารถเติบโตไปทางไหนได้บ้าง สายอาชีพ สายบริหาร สายเทคนิค ฯลฯ และ มีการกำหนดแนวทางในการเติบโตอย่างชัดเจน ว่าจะต้องทำผลงานอะไร อย่างไร ใช้เวลาสักเท่าไหร่ เพื่อให้พนักงานมองเห็นอนาคตของตนเองในบริษัท

• สร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น เรื่องของการแต่งกาย เรื่องเวลาการมาทำงาน การให้พนักงานสามารถตกแต่งโต๊ะทำงานของตนเองได้อย่างอิสระ มีห้องนั่งเล่น มีเกมและกิจกรรมต่างๆ ให้ทำเวลาที่ทำงานมาเหนื่อยๆ ฯลฯ เพื่อการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นกันเอง และมีความสนุกสนานอยู่ในตัว

• ระบบค่าตอบแทนและสวัสดิการ ระบบนี้จะต้องออกแบบให้มีความยืดหยุ่นด้วยเช่นกัน อาจจะมีองค์ประกอบของโครงสร้างค่าจ้างที่แตกต่างกันออกไป ออกแบบองค์กรประกอบของค่าจ้างหลัก ค่าจ้างเสริม ค่าจ้างจูงใจให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งระบบสวัสดิการที่ให้พนักงานสามารถเลือกได้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพชีวิตของพนักงานเอง

นอกจากระบบข้างต้นแล้ว สิ่งสำคัญมากกว่าเรื่องของระบบทั้งหมดที่กล่าวมา ก็คือ การทำให้ผู้บริหาร ผู้จัดการ และหัวหน้างานทุกระดับ ที่ต้องดูแลลูกน้อง มีภาวะผู้นำที่ดี มีความเข้าใจในความแตกต่างกันของแต่ละ Gen และสามารถปรับตัว ปรับวิธีการทำงานให้มีความยืดหยุ่นได้มากขึ้น เช่น หัวหน้าอาจจะต้องเริ่มฝึกที่จะให้คำชมพนักงานบ้าง ให้ Feedback กับพนักงาน สอนงาน และบอกกล่าวผลงานแก่พนักงานแต่ละคนได้อย่างไม่ติดขัด นอกจากนั้นยังต้องเป็นคนที่สามารถสร้างความเป็นกันเอง สร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน ปรับตัวปรับลักษณะของตนเองให้เข้ากับคนอื่นได้อยู่เสมอ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ยากอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องพัฒนาพนักงานระดับหัวหน้างานให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น

ในการที่จะทำให้คนแต่ละ Gen ทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข และรักษาพนักงานให้ทำงานกับองค์กรไว้นานๆ นั้น เราต้องอาศัยความเข้าใจซึ่งกันและกัน องค์กรเองก็ไม่ควรจะให้ความสำคัญกับ Gen ใด Gen หนึ่งมากจนเกินไป จนลืม Gen บาง Gen ไป เพราะนี่ก็คือการสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นได้ในระยะยาว บางองค์กรให้ Gen อื่นๆ เรียนรู้ความต้องการของ Gen Y แต่ไม่เคยคิดที่จะให้ Gen Y เรียนรู้และเข้าใจ Gen อื่นๆ เลย

เพราะเท่าที่ผมเห็นในปัจจุบัน องค์กรมักจะให้ความสำคัญกับ Gen Y จนมากเกินไป จนทำให้ลืม Gen อื่นๆ ซึ่งก็ยังคงเป็นคนที่สร้างผลงานให้กับองค์กรอยู่เช่นกัน



บทความโดย : คุณประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ประกาศบทความโดย : www.prosofthrmi.com
 4595
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ก่อนที่จะนำรายได้ต่างๆ มาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก่อนอื่นต้องดูก่อนว่ารายได้เป็นรายได้ประเภทไหน สามารถหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีได้เท่าไหร่ มีค่าลดหย่อนอะไรบ้าง
การอบรมพนักงาน เป็นกิจกรรมที่สำคัญในการพัฒนาและปรับปรุงทักษะและความรู้ของพนักงานในองค์กร ให้มีศักยภาพมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือ HR จึงควรให้ความสำคัญในการวางแผนและดำเนินการอบรมกับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับงานของพนักงานอย่างเป็นระบบ โดยการอบรมนี้อาจจะเป็นการฝึกฝนทักษะทั้งในทางเทคนิค การพัฒนาทักษะการสื่อสาร การบริหารเวลา หรือแม้กระทั่งการพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำและการทำงานเป็นทีม เพื่อปรับตัว เรียนรู้ระบบการทำงานขององค์กร และนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาองค์กรให้ประสบความสำเร็จ ให้สำเร็จลุล่วงกับเป้าหมายที่องค์กรตั้งไว้
SMART คือหลักในการตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนและมีแนวทางปฎิบัติที่เป็นรูปธรรม ทำให้เห็นทิศทางในการปฎิบัติที่เข้าใจได้ง่าย และนำไปปฎิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคำว่า SMART นั้นเกิดมาจากแนวคิดดังนี้ ตลอดจนมีวิธีการปฎิบัติเพื่อการตั้งเป้าหมายที่มีประสิทธิภาพ
ไหน ๆ แล้วได้ยินคำว่า KPI กันอยู่บ่อยครั้ง ในฐานะคนทำงานคงหลีกหนีเรื่องเหล่านี้ไม่พ้นอย่างแน่นอน เราลองมาดูไปพร้อม ๆ กันว่า ดัชนีชี้วัดความสำเร็จหรือ KPI ที่เราคุ้นเคยกันมานานนั้น จริง ๆ แล้วคืออะไรกันแน่ เป็นสิ่งที่น่ากลัวหรือต้องกังวลมากน้อยแค่ไหน ในเมื่อหลบไม่พ้นก็หาทางเผชิญหน้ากันแบบรู้จักฉันรู้จักเธอกันไปเลย
ก่อนที่เราจะลงลึกถึงความแตกต่างของสลิปเงินเดือนระหว่างพนักงานสัญญาจ้าง ฟรีแลนซ์ และพนักงานประจำ มาทำความเข้าใจความหมายของคำศัพท์เหล่านี้ก่อน
Agile - Way of Work เป็นการทำงานในทีมที่ประกอบไปด้วยบุคลากรจากหลายสายงาน โดยเน้นการสื่อสารระหว่างบุคคลเพื่อสร้างความเข้าใจกันให้มากยิ่งขึ้นและเปลี่ยนวิธีการทำงาน จากการกำหนดเป้าหมายระยะยาวแบบมุ่งไปครั้งเดียว เป็นแบบระยะสั้นๆ เพื่อให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจที่เกิดขึ้นตลอดเวลา
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์