เด็กรุ่นใหม่ เป็นแบบนี้จริงๆ หรือ

เด็กรุ่นใหม่ เป็นแบบนี้จริงๆ หรือ



เนื่องจากได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูง และผู้จัดการฝ่ายบุคคลของหลายๆ องค์กรในช่วงที่ผ่านมา และผมเองก็ได้สอบถามท่านเหล่านี้ไปว่า เรื่องอะไรที่ช่วงนี้หนักใจมากหน่อยในเรื่องของการบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กร

คำตอบที่ได้มาก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่พอสมควร แต่มีอยู่ 1 คำตอบที่เกือบทุกท่านตอบเหมือนกันเลย ก็คือ เรื่องของพฤติกรรมการทำงานของเด็กรุ่นใหม่ (ที่เพิ่งจบการศึกษา) และต่างก็บอกถึงพฤติกรรมที่เหมือนกันอีก มีอะไรบ้างผมจะเล่าให้อ่านกันครับ

• ขอเงินเดือนสูงๆ เด็กกลุ่มนี้มาพร้อมกับการขอเงินเดือนสูงปรี๊ด แบบไม่สนใจเรื่องงาน หรือเรื่องอื่นๆ เลย เอาเรื่องเงินไว้ก่อน บางครั้งถามเรื่องงาน ก็อึ้งๆ ถามความรู้รอบตัว ก็ลังเล ถามว่ารู้มั้ยว่าบริษัทที่มานั่งอยู่นี่ ทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไร ส่วนใหญ่ตอบไม่ได้เลย แต่พอให้ถามกลับ เกือบทุกคนถามคำถามแรกออกมาเหมือนกันหมด ก็คือ ให้เงินเดือนเท่าไหร่ โดยไม่ถามเลยว่า งานที่สมัครมานั้น ต้องทำอะไร มีหน้าที่และความรับผิดชอบอะไรบ้าง ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเงินเดือนไม่ได้ตามที่ขอ ก็จะไม่ทำ ประเด็นก็คือ ทำไมคนที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่ๆ ประสบการณ์ในการทำงานก็ยังไม่มี จึงกล้าที่จะต่อรองเรื่องของเงินเดือนกับบริษัท ในอัตราสูงมากๆ ทั้งๆ ที่ยังทำอะไรไม่เป็นเลย

• มาทำงานสาย “เด็กที่เพิ่งจบใหม่ น่าจะมีไฟแรงในการทำงาน” มีผู้บริหารบอกผมแบบนี้ “แต่ ทำไมเด็กรุ่นหลังๆ ถึงไม่ค่อยใส่ใจที่จะอยากมาทำงาน เวลามาทำงาน ก็จะมาสาย หรือเกือบถึงเวลาเข้างาน ไม่เหมือนคนรุ่นก่อน ที่มักจะมาก่อนเวลาเสมอ” นี่ก็เป็นอีกประโยคของผู้บริหารที่ผมเอามาบอกเล่าให้อ่านกัน ถ้าบริษัทที่มีการลงเวลาทำงาน ก็มักจะมาสายกันน้อยหน่อย ผิดกับบางบริษัทที่ให้รับผิดชอบตนเอง โดยไม่ต้องลงเวลาในการทำงาน แต่ต้องมาทำงานในเวลาที่กำหนด ผลก็คือ เด็กรุ่นใหม่ 4 คน จะมี 1 คนเท่านั้นที่มาทำงานก่อนหรือตรงเวลาเป๊ะ ที่เหลือ สายหมด เพราะคิดว่า บริษัทไม่ต้องลงเวลา ดังนั้นก็ไม่ต้องมาทำงานให้ตรงเวลา

• ไม่ใส่ใจทำงาน อีกเรื่องที่มักจะได้ยินได้ฟังกันมาบ่อยๆ ก็คือ เด็กรุ่นใหม่ ไม่ค่อยใส่ใจทำงานกันสักเท่าไหร่ แต่จะใส่ใจกับ Social Network ดังนั้นที่ผู้บริหารเห็นก็คือ วันๆ จะไม่ค่อยเห็นทำงาน แต่จะเห็นว่าเล่นแต่ Facebook เล่นแต่ Line ซึ่งก็ไม่ได้มีสาระอะไร เคยมีผู้บริหารท่านหนึ่งบอกว่า อยากจะให้ทำวิจัยจริงๆ เลยว่า วันๆ นึงที่พนักงานเข้ามาทำงานในบริษัทนั้น เวลาที่ทำงานแบบจริงๆ ให้กับบริษัทเป็นเวลาสักกี่ชั่วโมง เพราะส่วนใหญ่ผู้บริหารมักจะเชื่อว่า เวลา 8 ชั่วโมงที่กำหนดไว้นั้น จริงๆ แล้วทำงานไม่ถึงครึ่งเลยด้วยซ้ำไป มีผู้บริหารท่านหนึ่งบอกผมมาประมาณนี้ครับ “มา ก็สาย เริ่มงานก็ช้า แถมยังเล่นอย่างอื่นเวลางาน พอจะเริ่มงานจริงๆ ก็ได้เวลากินข้าว กินข้าวก็ไปชอปปิ้งจนเลยเวลา ขึ้นมาก็บอกยังไม่พร้อมคุยกับเพื่อนในไลน์ก่อน สักพักบอกง่วง เลยไปหากาแฟกิน ระหว่างกินก็คุยกับเพื่อนคนอื่นในห้องกาแฟ สักพักก็เดินมาเพื่อที่จะลงมือทำงาน เหลือบดูนาฬิกา ปรากฏว่า จะห้าโมงแล้ว ก็เลยนั่งเก็บของ เตรียมพร้อมที่จะออกจากบริษัททันที”

• เตรียมตัวเลิกงานแต่เนิ่นๆ อีก พฤติกรรมหนึ่งที่เห็นบ่อยมาก ก็คือ พอถึงเวลาอีก 1 ชั่วโมงจะเลิกงาน พนักงานกลุ่มนี้ก็จะเดินไปเดินมา เข้าห้องน้ำ แต่งตัว แต่งหน้า เก็บของ คุยกับเพื่อนโต๊ะข้างๆ ฯลฯ ราวกับว่าเลิกงานแล้ว จากนั้นก็จะดูเวลาบ่อยๆ พอห้าโมงตรงเป๊ะ ก็เปิดประตูบริษัทออกไปทันที ราวกับว่ากลัวจะเสียเปรียบบริษัทที่ต้องทำงานเกินเวลาที่กำหนด ทั้งๆ ที่บางคน กว่าจะมาทำงาน ก็เรียกได้ว่า แทบจะต้องลากตัวเองมาทำงาน ประเภทช่วงเช้ามาทำงานก็มีพฤติกรรมเหมือนเต่า ค่อยต้วมเตี้ยมมาเรื่อยๆ แต่พอเวลาเลิกงาน กลับพุ่งออกจากบริษัทราวกับกระต่าย

• ทุกกิจกรรมที่ทำจะต้องบอกให้คนอื่นรู้ อีกพฤติกรรมหนึ่งที่ผู้บริหารสังเกตเห็นก็คือ ไม่ว่าจะทำอะไร ดูอะไร หรือไม่พอใจอะไร จะต้องมีการถ่ายรูป หรือไม่ก็ต้องโพสขึ้น facebook เพื่อบอกให้คนอื่นรู้ว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ บางคนไปชงกาแฟมา ก็ถ่ายรูปกาแฟที่ชง แล้วก็โพสขึ้นเฟสบุ๊ค บางคนไปห้องน้ำยังต้องบอก ฯลฯ ถ้าเอาเวลาพวกนี้ไปทำงานก็คงได้งานมากขึ้นอีกเยอะเลย

สิ่งที่ผู้บริหารกลุ่มนี้ย้ำมาอีกครั้งก็คือ ด้วยพฤติกรรมแบบนี้ แต่กลับมาขอเงินเดือนสูงๆ แล้วใครจะอยากให้ ก็ต้องไปชะลอเงินเดือนลงด้วยระบบการประเมินผลงานในแต่ละปี ใครที่มีพฤติกรรมข้างต้น ก็มักจะถูกประเมินผลงานออกมาไม่ค่อยดีนัก เพราะไม่มีผลงานอะไรให้เห็น

ประเด็นที่ผมสงสัยมากก็คือ เด็กรุ่นใหม่ มีพฤติกรรมแบบนี้จริงๆ หรือ หรือว่าเป็นสิ่งที่เราคิดไปเอง หรือเป็นแค่คนส่วนน้อย แต่ทำพฤติกรรมไม่ดี ก็เลยติดตาเรา ทำให้เราเหมารวมไปหมดว่าเป็นแบบนี้ทุกคน



บทความโดย : คุณประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ประกาศบทความโดย : www.prosofthrmi.com
 5698
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

การอบรมพนักงาน เป็นกิจกรรมที่สำคัญในการพัฒนาและปรับปรุงทักษะและความรู้ของพนักงานในองค์กร ให้มีศักยภาพมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือ HR จึงควรให้ความสำคัญในการวางแผนและดำเนินการอบรมกับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับงานของพนักงานอย่างเป็นระบบ โดยการอบรมนี้อาจจะเป็นการฝึกฝนทักษะทั้งในทางเทคนิค การพัฒนาทักษะการสื่อสาร การบริหารเวลา หรือแม้กระทั่งการพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำและการทำงานเป็นทีม เพื่อปรับตัว เรียนรู้ระบบการทำงานขององค์กร และนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาองค์กรให้ประสบความสำเร็จ ให้สำเร็จลุล่วงกับเป้าหมายที่องค์กรตั้งไว้
SMART คือหลักในการตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนและมีแนวทางปฎิบัติที่เป็นรูปธรรม ทำให้เห็นทิศทางในการปฎิบัติที่เข้าใจได้ง่าย และนำไปปฎิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคำว่า SMART นั้นเกิดมาจากแนวคิดดังนี้ ตลอดจนมีวิธีการปฎิบัติเพื่อการตั้งเป้าหมายที่มีประสิทธิภาพ
ไหน ๆ แล้วได้ยินคำว่า KPI กันอยู่บ่อยครั้ง ในฐานะคนทำงานคงหลีกหนีเรื่องเหล่านี้ไม่พ้นอย่างแน่นอน เราลองมาดูไปพร้อม ๆ กันว่า ดัชนีชี้วัดความสำเร็จหรือ KPI ที่เราคุ้นเคยกันมานานนั้น จริง ๆ แล้วคืออะไรกันแน่ เป็นสิ่งที่น่ากลัวหรือต้องกังวลมากน้อยแค่ไหน ในเมื่อหลบไม่พ้นก็หาทางเผชิญหน้ากันแบบรู้จักฉันรู้จักเธอกันไปเลย
ก่อนที่เราจะลงลึกถึงความแตกต่างของสลิปเงินเดือนระหว่างพนักงานสัญญาจ้าง ฟรีแลนซ์ และพนักงานประจำ มาทำความเข้าใจความหมายของคำศัพท์เหล่านี้ก่อน
Agile - Way of Work เป็นการทำงานในทีมที่ประกอบไปด้วยบุคลากรจากหลายสายงาน โดยเน้นการสื่อสารระหว่างบุคคลเพื่อสร้างความเข้าใจกันให้มากยิ่งขึ้นและเปลี่ยนวิธีการทำงาน จากการกำหนดเป้าหมายระยะยาวแบบมุ่งไปครั้งเดียว เป็นแบบระยะสั้นๆ เพื่อให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจที่เกิดขึ้นตลอดเวลา
วันนี้ Prosoft HRMI เราจึงนำบทความมาฝากให้ทุกคนมาทำความรู้จัก 5 Soft Skills ที่คนทำงานยุคใหม่ควรมี เพื่อให้คุณสามารถทำงานเป็นนายเทคโนโลยีได้โดยที่ไม่ถูกแย่งงานไป
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์