สาเหตุที่พนักงานอยากลาออกจากบริษัท

สาเหตุที่พนักงานอยากลาออกจากบริษัท



มีงานวิจัยมากมายที่ศึกษาเรื่องของสาเหตุของการลาออกของพนักงานว่า จริงๆ แล้วที่พนักงานลาออกจากองค์กรนั้น มีสาเหตุหลัก มาจากอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้นำสาเหตุเหล่านั้นมาเตรียมการป้องกัน และแก้ไข สิ่งต่างๆ ในองค์กร ที่เป็นสาเหตุให้พนักงานไม่อยากอยู่ทำงานกับบริษัท

แต่บางสาเหตุที่งานวิจัยทำมานั้น ดูเหมือนจะเป็นลักษณะของหลักการมากกว่าที่จะเกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะเรื่องของค่าตอบแทนในการทำงานนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานศึกษาวิจัยชิ้นใดก็ตาม มักจะบอกว่า เรื่องของค่าตอบแทนนั้นเป็นเรื่องท้ายๆ ของพนักงานที่จะใช้เป็นเหตุผลในการตัดสินใจลาออกจากบริษัท คำถามก็คือ จริงหรือไม่??

ลองมาดูสาเหตุที่พนักงานอยากลาออกจากองค์กรที่เขาศึกษากัน และใช้อ้างอิงกันส่วนใหญ่ว่ามีอะไรบ้าง

• ลาออกเนื่องจากตัวงานเอง กล่าวคือ เข้ามาทำงานแล้ว ปรากฏว่า เป็นงานที่ตนเองไม่ชอบ หรือไม่ถนัด หรือบางครั้งเคยคิดว่าตัวเองชอบงานนี้ แต่พอได้เริ่มทำงานเข้าสักพัก ก็เริ่มรู้สึกว่า งานนี้มันไม่ใช่ตัวเราเลย ก็เลยทำให้พนักงานคนนั้นเกิดความคิดที่จะลาออก จริงๆ ถ้าเป็นเหตุผลในเรื่องงานที่พนักงานไม่ชอบจริงๆ ก็คงจะรั้งไว้ลำบาก เพราะเขาไม่ชอบงานแบบนี้ รั้งไว้ ก็ไม่มีประโยชน์ด้วย และจะยิ่งเป็นผลเสียต่อทั้งบริษัท และต่อพนักงาน บริษัทก็ไม่ได้ผลงานที่ดีจากพนักงาน เพราะไม่ชอบงาน ก็จะเริ่มไม่อยากทำ พอเริ่มไม่อยากทำ ก็จะทำให้ผลงานที่ออกมาไม่ดีเท่าที่ควร บังคับให้อยู่ก็ไม่มีประโยชน์อะไร แบบนี้ผมคิดว่าจากกันด้วยดี น่าจะดีกว่า แนวทางในการป้องกันก็คือ ต้องสรรหาคัดเลือกพนักงานอย่างเข้มข้นเลยครับ เอาให้ชัดเจนว่า แนวโน้มพนักงานคนนี้จะชอบงานนี้จริงๆ หรือไม่ โดยทั่วไปก็พิจารณาจากประสบการณ์ในการทำงาน และคุณสมบัติต่างๆ ที่สอดคล้องกับงานที่จะทำนั่นเอง

• ลาออกเนื่องจากหัวหน้างาน สาเหตุ ข้อนี้เป็นสาเหตุยอดฮิต ที่ใครๆ หลายคน ต่างก็อ้างสาเหตุนี้กันมากมายว่า ส่วนใหญ่ที่พนักงานลาออกนั้น เป็นเพราะหัวหน้างานไม่ดี ไม่เป็นธรรม เข้ากันไม่ได้ หรือไม่ใส่ใจในการบริหารลูกน้อง ที่ลึกหน่อยก็คือ หัวหน้าขาดภาวะผู้นำที่ดี ก็เลยไม่อยากอยู่ด้วย เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า สาเหตุนี้เป็นสาเหตุหลักจริงๆ หรือไม่ แต่สำหรับองค์กรที่ได้ทำ Exit Interview กับพนักงานที่ลาออกแล้ว โดยพนักงานส่วนใหญ่ที่ลาออกให้เหตุผลนี้ นั่นก็แสดงว่า องค์กรจะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาหัวหน้างานกลุ่มนี้ให้ดี เพราะเขาเป็นสาเหตุที่ทำให้พนักงานอยู่ทำงานในองค์กรไม่ได้ ถ้าเป็นแบบนี้นานๆ เข้า องค์กรจะมีแต่แย่ กับแย่ นะครับ เพราะไม่มีคนทำงาน เข้ามาแล้วก็ทำงานด้วยไม่ได้ ทนไม่ได้ก็ต้องลาออกไป ต้นทุนในการสรรหาคัดเลือก และพัฒนาพนักงานก็แพงเอาการอยู่ ดังนั้น ก็ต้องพยายามแก้ไขโดยพัฒนากลุ่มหัวหน้างาน ให้มีทักษะและความรู้ในการบริหารคน และบริหารงานที่ถูกต้องเหมาะสมครับ

• ลาออกเนื่องจากไม่คุ้มเหนื่อย สาเหตุ ข้อนี้ เป็นสาเหตุที่ต้องมีการเปรียบเทียบการทำงานกับสิ่งตอบแทนบางอย่างที่พนักงาน ได้รับไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ค่าตอบแทน สวัสดิการ รวมทั้งเรื่องของการใช้ชีวิตส่วนตัวของพนักงานเอง พนักงานบางคน ทำงานตัวเป็นเกลียว แต่พอหันไปมองครอบครัว ก็ปรากฏว่า ไม่มีใครดูแลลูกเลย เพราะมัวแต่ทำงานกัน พนักงานบางคนมองแล้วว่า มันไม่คุ้มค่าเลย ก็อาจจะตัดสินใจลาออกจากงานได้ หรือบางคนอาจจะมองไปที่ค่าตอบแทนที่ได้ เมื่อเทียบกับงานที่ทำว่าไม่คุ้มค่าเหนื่อย สาเหตุนี้ส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่พนักงานรู้สึกล้า และทำงานมากกว่า สิ่งที่ชีวิตของเขาอยากได้ แต่สาเหตุนี้มักจะเกิดขึ้นกับพนักงานที่ทำงานมาสักพักแล้ว แล้วมานั่งคิดได้ว่า สิ่งที่ตนเองทำไปนั้นมันไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ชีวิตของเราต้องการเลย แล้วพนักงานก็จะตัดสินใจลาออกจากการทำงานนั้น เพื่อหันมาใช้ชีวิตในแบบที่ตนเองต้องการ

• ลาออกเนื่องจากค่าตอบแทนไม่เป็นธรรม ย้ำ อีกครั้งนะครับว่า ลาออกเนื่องจากการให้ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม ไม่ใช่ค่าตอบแทนมากไปหรือน้อยไปนะครับ สาเหตุของค่าตอบแทนที่ทำให้พนักงานคิดที่จะลาออกก็เนื่องจาก เมื่อเทียบกับคนอื่นแล้ว พนักงานรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม เช่น การขึ้นเงินเดือนไม่เป็นไปตามผลงาน คนที่ทำงานไม่ดี แต่อยู่มานาน กลับได้เงินเดือนขึ้นมากกว่าคนที่ทำงานดี แต่เพิ่งเข้ามาทำงานไม่นาน หรือ เข้ามาทำงานตำแหน่งเดียวกัน จบใหม่เหมือนกัน แต่กลับได้ค่าจ้างไม่เท่ากัน ฯลฯ แบบนี้ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พนักงานไม่อยากอยู่ทำงานกับองค์กร

• ลาออกเนื่องจากลูกน้อง สาเหตุ นี้มักจะเกิดขึ้นกับหัวหน้าที่เข้ามาทำงานใหม่ในองค์กร และอยู่ในช่วงที่ต้องปรับตัวเข้ากับทีมงาน แต่กลับกลายเป็นว่า ทีมงานหรือลูกน้องของตนนั้นตั้งแง่ และลองภูมิตลอด บางครั้งทำอะไรก็ไม่ให้เกียรติ และทำเหมือนกับว่าหัวหน้าคนนี้เป็นหัวหลักหัวตอ ไม่เคยคิดที่รายงานอะไรเลย เวลาหัวหน้างานนัดประชุม ก็ไม่เข้าซะงั้น หรือเข้าประชุม แต่กลับไม่ฟังสิ่งที่หัวหน้าพูดเลย เมื่อเวลาผ่านไป และยังเป็นแบบนี้ต่อ หัวหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้ามาก็คงจะทนไม่ได้ และคงต้องยอมแพ้และลาออกไปในทีสุด ด้วยสาเหตุนี้ ถ้าเกิดกลุ่มลูกน้องที่เรามีอยู่เป็นลูกน้องประเภทไม่ทำงาน ไม่สร้างผลงาน นั่นแสดงว่า ลูกน้องกลุ่มนี้ตั้งใจกลั่นแกล้งหัวหน้าใหม่คนนี้ ถ้าแบบนี้คงต้องรีบแก้ไขกันแล้ว มิฉะนั้นองค์กรจะไม่ได้อะไรจากทีมงานนี้เลยครับ ในทางตรงกันข้าม ถ้าหัวหน้าใหม่ก็ดี ลูกน้องเดิม ก็โอเค แต่เข้ากันไม่ได้เพราะสไตล์การทำงาน หรือวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แบบนี้คงแก้ไขยาก วิธีที่ดีก็คือต้องคัดเลือกหัวหน้าที่เหมาะกับวัฒนธรรมขององค์กรและของทีมงาน ด้วยเช่นกัน

นี่ก็คือสาเหตุหลักๆ ที่พนักงานคิดจะลาออกจากองค์กร ซึ่งเป็นสาเหตุที่ไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากทำให้เกิดปัญหาเรื้อรังตามมาอีกมากมาย ดังนั้นถ้าเกิดจากสาเหตุนี้จริงๆ องค์กรเองก็คงต้องพิจารณาหาทางแก้ไขให้ลุล่วง มิฉะนั้น องค์กรจะเกิดปัญหาตามมาก็คือ มีแต่พนักงานลาออกอยู่อย่างสม่ำเสมอ ผลงานก็ไม่ต่อเนื่อง การพัฒนาก็ติดขัด

แต่อย่างไรก็ดี การลาออกของพนักงานนั้นเป็นเรื่องธรรมดาเรื่องหนึ่ง เมื่อถึงจุดหนึ่งของชีวิตพนักงาน ซึ่งเขาคิดว่าคงไม่อยากทำงานแล้ว ก็คงต้องเคารพในการตัดสินใจของพนักงาน เพียงแต่ HR ก็คงต้องมีการวางแผนอัตรากำลังคนไว้ล่วงหน้าเพื่อเตรียมกำลังคนทดแทนอย่างทันท่วงทีครับ



บทความโดย : คุณประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ประกาศบทความโดย : www.prosofthrmi.com
 15783
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ก่อนที่จะนำรายได้ต่างๆ มาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก่อนอื่นต้องดูก่อนว่ารายได้เป็นรายได้ประเภทไหน สามารถหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีได้เท่าไหร่ มีค่าลดหย่อนอะไรบ้าง
การอบรมพนักงาน เป็นกิจกรรมที่สำคัญในการพัฒนาและปรับปรุงทักษะและความรู้ของพนักงานในองค์กร ให้มีศักยภาพมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือ HR จึงควรให้ความสำคัญในการวางแผนและดำเนินการอบรมกับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับงานของพนักงานอย่างเป็นระบบ โดยการอบรมนี้อาจจะเป็นการฝึกฝนทักษะทั้งในทางเทคนิค การพัฒนาทักษะการสื่อสาร การบริหารเวลา หรือแม้กระทั่งการพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำและการทำงานเป็นทีม เพื่อปรับตัว เรียนรู้ระบบการทำงานขององค์กร และนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาองค์กรให้ประสบความสำเร็จ ให้สำเร็จลุล่วงกับเป้าหมายที่องค์กรตั้งไว้
SMART คือหลักในการตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนและมีแนวทางปฎิบัติที่เป็นรูปธรรม ทำให้เห็นทิศทางในการปฎิบัติที่เข้าใจได้ง่าย และนำไปปฎิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคำว่า SMART นั้นเกิดมาจากแนวคิดดังนี้ ตลอดจนมีวิธีการปฎิบัติเพื่อการตั้งเป้าหมายที่มีประสิทธิภาพ
ไหน ๆ แล้วได้ยินคำว่า KPI กันอยู่บ่อยครั้ง ในฐานะคนทำงานคงหลีกหนีเรื่องเหล่านี้ไม่พ้นอย่างแน่นอน เราลองมาดูไปพร้อม ๆ กันว่า ดัชนีชี้วัดความสำเร็จหรือ KPI ที่เราคุ้นเคยกันมานานนั้น จริง ๆ แล้วคืออะไรกันแน่ เป็นสิ่งที่น่ากลัวหรือต้องกังวลมากน้อยแค่ไหน ในเมื่อหลบไม่พ้นก็หาทางเผชิญหน้ากันแบบรู้จักฉันรู้จักเธอกันไปเลย
ก่อนที่เราจะลงลึกถึงความแตกต่างของสลิปเงินเดือนระหว่างพนักงานสัญญาจ้าง ฟรีแลนซ์ และพนักงานประจำ มาทำความเข้าใจความหมายของคำศัพท์เหล่านี้ก่อน
Agile - Way of Work เป็นการทำงานในทีมที่ประกอบไปด้วยบุคลากรจากหลายสายงาน โดยเน้นการสื่อสารระหว่างบุคคลเพื่อสร้างความเข้าใจกันให้มากยิ่งขึ้นและเปลี่ยนวิธีการทำงาน จากการกำหนดเป้าหมายระยะยาวแบบมุ่งไปครั้งเดียว เป็นแบบระยะสั้นๆ เพื่อให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจที่เกิดขึ้นตลอดเวลา
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์